ธปท.ออกเกณฑ์สกัดบาทแข็ง ปรับโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.ออกเกณฑ์สกัดบาทแข็ง ปรับโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่

Date Time: 21 พ.ย. 2563 05:15 น.

Summary

  • แบงก์ชาติ ยกระดับ 3 เกณฑ์ปรับโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ให้เปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ–ลงทุนหุ้นนอกเสรี เริ่มสิ้นเดือนนี้

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

แบงก์ชาติ ยกระดับ 3 เกณฑ์ปรับโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ให้เปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ–ลงทุนหุ้นนอกเสรี เริ่มสิ้นเดือนนี้ ขณะที่จับนักลงทุนแสดงตัวตนก่อนซื้อพันธบัตรไทย เพื่อให้รู้ตัว–รู้พฤติกรรมคนซื้อ เชื่อลดคนซื้อขายเก็งกำไร เข้าเร็วออกเร็วได้ คาดเริ่มใช้ครึ่งปีหน้า ยันที่ผ่านมาแทรกแซงค่าเงินเพื่อไม่ให้แข็งรัวกระทบเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเพิ่มเติมใน 3 เรื่อง เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากผลในระยะยาวให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนไทยที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว จะช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาทในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่งด้วย

ประกอบด้วย 1.ขยายการเปิดบัญชีเงินฝากของคนไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยให้ดำเนินการได้โดยเสรี โดยเปิดบัญชีเดียวทำได้ทุกวัตถุประสงค์ เช่น การใช้เพื่อการศึกษาบุตร เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งการซื้อหุ้นต่างประเทศ ซื้อทองคำ ส่งออกนำเข้าในบัญชีเดียว โดยไม่จำกัดวงเงินในการฝากเงิน นอกจากนั้น สามารถที่จะโอนเงินตราต่างประเทศระหว่างกันจากบัญชี FCD จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง โดย ธปท.ได้เจรจากับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะฟรีค่าธรรมเนียมการโอนในธนาคารเดียวกัน แต่อาจจะมีค่าธรรมเนียมหากโอนข้ามธนาคารอยู่

“การเปิดเสรี FCD จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน สามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น และทำให้เคยชินกับการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งรองรับความผันผวนในอนาคตได้มากขึ้น”

2.ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยในสินทรัพย์ต่างประเทศเป็น 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จากเดิม 200,000 เหรียญฯ ต่อปี และหากเป็นการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะไม่จำกัดวงเงินในการลงทุน รวมทั้งเปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยโดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่สนใจที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เช่น อยากลงทุนในหุ้นแอปเปิล หรือหุ้นเทสล่า ลงทุนได้ด้วยตัวเองในวงเงินที่มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังยกเลิกการจำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือกองทุนอื่นๆลงทุนได้มากขึ้น และสะดวกขึ้น ไม่ต้องมาขออนุญาตเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับปรุงเกณฑ์ใน 2 ข้อแรกนี้ ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่า ธปท. และคณะกรรมการกำกับและตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะออกประกาศเพื่อเริ่มดำเนินการได้ในสิ้นเดือน พ.ย.นี้

ส่วนการปรับปรุงเกณฑ์ ข้อที่ 3 จะช่วยเพิ่มความเข้าใจในตลาดเงินของไทยให้กับผู้กำกับดูแล รวมทั้งทำให้มีข้อมูลมากขึ้นและชัดเจน ทุกจุด ทันการณ์มากขึ้นในการออกมาตรการควบคุมดูแลเพิ่มเติมเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินหากมีความจำเป็น ประมาณต้นปีหน้า ธปท.จะให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขายตราสารหนี้ของไทย (Bond Pre-trade Registration) ทั้งผู้ลงทุนไทย และผู้ลงทุนต่างประเทศ ทำให้ติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท.ดำเนินนโยบายได้ตรงจุดและทันการณ์ นอกจากนั้น เป็นการป้องปรามนักลงทุนที่เข้าเร็ว ออกเร็ว หรือเข้ามาลงทุนพักเงิน เพื่อเก็งกำไรระยะสั้นได้ในระดับหนึ่งด้วย โดยแนวทางการแสดงตัวตนของนักลงทุนนี้ได้มีการดำเนินการในหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน

“ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเร็วกว่าพื้นฐาน จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด -19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ซึ่ง ธปท.ยังเข้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าเห็นการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นๆในตลาดเงินไทยบ้าง แต่ยังไม่มีจำนวนที่มากเกินไป ส่วนเงินที่ไหลเข้ามาประเทศไทยยังน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ