เข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี 2563 เพื่อที่จะมองเศรษฐกิจต่อเนื่อง ไปยังปี 2564 หนึ่งมุมมองที่น่าสนใจในขณะนี้ คือ การรวบรวมการประเมินภาพเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยของธนาคาร ซึ่งได้จัดทำไว้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งข้อมูลในการปรับ “ยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจไทย” ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และในปีหน้า
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ผู้บริหาร สูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในขณะนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 (Bottomed out) ตามการผ่อนคลายของมาตรการปิดเมือง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การหดตัวที่ลดลงของภาคส่งออกสินค้า ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยประคับ- ประคองการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ข้อมูลเร็ว (high frequency data) บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลง สอดคล้องกับที่ EIC คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอีกหลายประการ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 ที่ EIC ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคนตามนโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่คาด หรือเข้าแล้วประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดประมาณ 6 แสนล้านบาท โดย EIC ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 อยู่ที่-7.8%
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Scarring effects) ซึ่งประกอบด้วยการปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นและความเปราะบางในตลาดแรงงาน สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมาก อีกทั้งพฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต (precautionary saving) และความจำเป็นในการซ่อมแซมงบดุลที่ได้รับผลกระทบของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้าๆ ทั้งนี้จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก
EIC คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ควบคู่กับการใช้มาตรการอื่นๆ เช่น การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มสภาพคล่องและแบ่งเบาความเสี่ยงจากภาคเอกชน ผ่านการใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงด้านเครดิต (credit guarantee) เป็นต้น
ด้านนายฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีนี้ปรับดีขึ้นชัดเจนจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายอาจสะดุดลงจากหลายปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ
“ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเปราะบางและความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังมีการชุมนุมยืดเยื้อ ปัญหาการว่างงานและหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงจากการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศซึ่งขณะนี้บางประเทศในยุโรปกลับมาประกาศใช้มาตรการปิดเมืองหลังประสบกับการระบาดที่รุนแรงอีกครั้ง จึงอาจส่งผลต่อภาคการค้าระหว่างประเทศได้ และล่าสุดยังอาจถูกซ้ำเติมจากสหรัฐฯประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าส่งออกของไทยมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์ เริ่มมีผลวันที่ 30 ธ.ค.2563”
ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทายแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น โดยคาดว่ายอดขายที่หดตัวมากถึง 9.0% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนราย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน ในภาพรวมจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม นอกจากนั้น กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงาน ไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า
“สถานการณ์เศรษฐกิจซบเซาที่มีแนวโน้มลากยาว อาจส่งผลให้กิจการ “ซมไข้ยาวนาน” หรือกิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565”.