รู้จัก Social banking ... ธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดีย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รู้จัก Social banking ... ธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดีย

Date Time: 2 พ.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 มีการเปิดตัวโมเดลพันธมิตรทางธุรกิจแบบ Social banking อย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย ภายใต้ชื่อ “Line BK” ที่เป็นการจับมือกันระหว่างธนาคารสีเขียวกับแอปพลิเคชันแชตยอดนิยม

Latest

ความรู้ทางการเงิน สำคัญแค่ไหน? สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ในระบบการเงินโลกยุคนี้

ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 มีการเปิดตัวโมเดลพันธมิตรทางธุรกิจแบบ Social banking อย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย ภายใต้ชื่อ “Line BK” ที่เป็นการจับมือกันระหว่างธนาคารสีเขียวกับแอปพลิเคชันแชตยอดนิยมของคนไทย เพื่อให้บริการธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบบนแอปโซเชียลมีเดีย วันนี้เลยอยากชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ Social banking ให้มากขึ้นค่ะ และชวนคิดต่อว่าดีหรือไม่ที่มีธนาคารอยู่ใกล้ตัว

Social banking คือ บริการธนาคารออนไลน์บนแอปโซเชียลมีเดีย เป็นโมเดลธุรกิจที่ธนาคารจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาล ความร่วมมือระหว่างธนาคารกับ Super app ชั้นนำที่มีทุกอย่างครบในแอปเดียว จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในระยะยาวให้ธนาคารจากการแชร์ข้อมูลกับพันธมิตร ทำให้ Social banking ให้บริการทางการเงินกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารเพราะไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือกู้ไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ เมื่อ Social banking มีข้อมูลใหม่ด้านอื่นมาเสริม ก็จะช่วยให้ธุรกิจนี้เสนอบริการทางการเงินต่างๆได้ถูกที่ ถูกเวลา ตรงความต้องการและศักยภาพของลูกค้าได้ดีขึ้น

ในปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ใช้เวลาบนโลกโซเชียลนานขึ้น ชอบความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมการเงินดิจิทัลได้ครบในแอปเดียว คนมีทางเลือกมากขึ้นจากบรรดาแพลตฟอร์มธุรกิจเทคโนโลยีที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ ธนาคารจึงต้องเร่งปรับตัวให้เข้าไปอยู่บน Super app ที่รวมทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าให้ใช้บริการการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา

ธุรกิจแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ก็อาศัยจุดแข็งของธนาคารด้านบริการทางการเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบและความไว้เนื้อเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้กับธนาคาร มาเสริมจุดแข็งของตัวเองที่เข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้งานบนเครือข่ายจำนวนมหาศาล และเก่งในการออกแบบแอปให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน ให้ทำทุกอย่างได้ในแอป ไม่ว่าจะเป็นการแชต-ช็อป-บันเทิง-สั่งอาหาร-ส่งของ-เรียกรถ ไปจนถึงการโอน-ออม-ยืม-จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่มีรายได้ประจำที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคาร โดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานแอปแต่ละรายเชิงลึก เพื่อประมวลผลแบบปัญญาประดิษฐ์ ทำให้รู้ถึงความเสี่ยงในการกู้เงินและการชำระคืนได้ง่าย

ผู้บริโภคก็จะได้รับความสะดวกสบายขึ้น ไม่ต้องออกจากโซเชียลแพลตฟอร์มที่กำลังใช้งานอยู่ไปเข้าแอป mobile banking ของธนาคารโดยตรงเพื่อทำธุรกรรมการเงิน แต่ใช้บริการธนาคาร เต็มรูปแบบได้ใน Super app เลย ทำให้ได้รับประสบการณ์การใช้บริการที่ตอบโจทย์กว่าคนที่อยากกู้เงินก็เข้าถึงแหล่งเงินกู้ง่ายขึ้น

แม้ Social banking จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล แต่ความรู้และวินัยทางการเงินของผู้บริโภคก็ยังเป็นหัวใจสำคัญ หากมองในมุมที่ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินง่ายขึ้น แบงก์ปรับตัวให้บริการธนาคารเชิงรุกขึ้น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่อยอดโมเดลธุรกิจเชื่อมโยงกับบริการธนาคาร ช่วยให้คนในประเทศลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินหรือต้นทุนการกู้เงินได้ ก็ดูเหมือนจะวิน-วินกันทุกฝ่าย แต่หากมองอีกด้านการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เน้นนำเสนอข่าวสารข้อมูลบ่อยๆ ก็คล้ายกับเราดูโฆษณาขายของในทีวีซ้ำไปซ้ำมาทั้งวัน จนสุดท้ายก็อาจมีผลเปลี่ยนพฤติกรรมเราให้ใช้จ่ายเพลินหรือยืมเงินไว จนก่อหนี้เกินตัวโดยไม่รู้ตัวได้

ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ใช้แอปโซเชียลมีเดียหรือลูกค้าธนาคาร ก็จำเป็นต้องรู้เท่าทันกระแส Social banking ที่กำลังมาแรงในไทยนี้กันค่ะ เพราะเหรียญมีสองด้านเสมอ โดยไม่ลืมว่าทุกการเคลื่อนไหวบน Super app จะทิ้งร่องรอยข้อมูลล้ำค่าให้ธุรกิจต่างๆบนโลกโซเชียลที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน หากการใช้จ่าย/กู้ยืมที่เคยเป็นเรื่องใหญ่ แบบที่ต้องคิดแล้วคิดอีก สามารถทำได้ง่ายขึ้นบนโลกโซเชียล ในทางกลับกันการใช้จ่าย/กู้ยืมที่อาจไม่จำเป็นจริงๆ แบบที่กดปุ่มตกลงไปไม่ทันได้คิดดีๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายบนโลกโซเชียลเช่นกันค่ะ

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ