จับตา “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ควบรวมเป็นหนึ่งเดียว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จับตา “ทีเอ็มบี-ธนชาต” ควบรวมเป็นหนึ่งเดียว

Date Time: 6 ต.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ในแวดวงการเงินการธนาคาร มหากาพย์การควบรวมกิจการ ต้องยกให้ “ธนาคารทหารไทย” หรือ “ทีเอ็มบี” เพราะมีการควบรวมเบ็ดเสร็จของสถาบันการเงินทั้งหมด 6 แห่ง

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ในแวดวงการเงินการธนาคาร มหากาพย์การควบรวมกิจการ ต้องยกให้ “ธนาคารทหารไทย” หรือ “ทีเอ็มบี” เพราะมีการควบรวมเบ็ดเสร็จของสถาบันการเงินทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง บวกกับบรรษัทเงินทุนแห่งประเทศไทย หรือไอเอฟซีที อีก 1 แห่ง

โดยการควบรวมกิจการของทีเอ็มบีครั้งแรก เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 เมื่อทีเอ็มบีประสบปัญหาฐานะการเงิน กระทรวงการคลังจึงต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ด้วยการจับทีเอ็มบีควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) และธนาคารดีบีเอสไทยทนุ

ในครั้งนั้น นับเป็นการควบรวมกิจการของ 3 สถาบันการเงินของไทย มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รองลงมาเป็นธนาคารดีบีเอส ของสิงคโปร์ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารดีบีเอสไทยทนุ

ต่อมาธนาคารดีบีเอส ได้ยกธงขาวถอนการลงทุนจากในประเทศไทย ไอเอ็นจีแบงก์ จากเนเธอร์แลนด์ สบช่องเข้ามาเสียบแทนกระทรวงการคลัง และไอเอ็นจีแบงก์ จึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีสัดส่วนการถือหุ้นใกล้เคียงกัน

เมื่อทีเอ็มบีแข็งแกร่งขึ้น กลับมาสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ไอเอ็นจีแบงก์ต้องการถือหุ้นใหญ่เพียงรายเดียว จึงได้ยื่นขอซื้อหุ้นทีเอ็มบีในสัดส่วนที่กระทรวงการคลังถือทั้งหมด แต่การเจรจายืดยาวมาหลายปีไม่สามารถหาจุดจบราคาหุ้นที่เหมาะสม

ประจวบเหมาะ เมื่อธนาคารธนชาต มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย คือกลุ่มทุนธนชาต และโนวาสโกเทียแบงก์ จากแคนาดา ในฝั่งของโนวาสโกเทียแบงก์ ต้องการขายหุ้นทั้งหมดหวังขนเงินกลับประเทศ

ส่วนฝั่งของทุนธนชาต ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อลีสซิ่งรถยนต์ ต้องการลดบทบาทการบริหารธนาคาร จึงเปิดทางให้ทีเอ็มบีมาเทกโอเวอร์

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ที่ “ธนาคารธนชาต” ในยุคที่ทุนธนชาต และโนวาสโกเทียแบงก์ ยังจับมือแข็งขันร่วมกันทำธุรกิจนั้น ได้เข้าไปเทกโอเวอร์ธนาคารนครหลวงไทย พร้อมนำมาควบรวมกิจการ

โดยในส่วนของธนาคารนครหลวงไทย ก่อนหน้าที่ธนาคารธนชาตจะได้เข้าไปเทกโอเวอร์นั้น หากย้อนหลังไปอีกเมื่อช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ปรากฏว่าธนาคารนครหลวงไทยได้เข้าควบรวมกับธนาคารศรีนคร

ดังนั้นการควบรวมทีเอ็มบีที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดนี้ ได้มีสถาบันการเงินเข้าควบรวมกิจการไปทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย ทีเอ็มบี, ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ, ธนาคารธนชาต, ธนาคารศรีนคร และธนาคารนครหลวงไทย บวกกับอีก 1 สถาบันการเงิน นั่นคือ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือไอเอฟซีที

สำหรับฐานะการเงินของทีเอ็มบี หลังควบรวมธนาคารธนชาต ถือว่าแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) 18.60% มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 อันดับแรก ไอเอ็นจีแบงก์ ถือหุ้นสัดส่วน 23.03% ของทุนจดทะเบียน ทุนธนชาต 20.12 % และกระทรวงการคลัง 11.79%

ขณะที่ความคืบหน้าการควบรวมทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาตล่าสุด ได้เชื่อมโยงการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยลูกค้าที่ต้องการชำระบิลสินเชื่อรถยนต์ ประกันรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ของธนาคารธนชาต สามารถทำรายการดังกล่าวได้ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน ทัช และตู้ ATM ของทีเอ็มบี (ยกเว้นสินเชื่อบ้าน และประกันรถยนต์)

นอกจากนี้ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคาร ใช้บริการ ATM/ ADM จำนวนกว่า 4,900 เครื่องทั่วประเทศ ผ่านเครือข่าย ATM ทั้งของทีเอ็มบี และธนชาต เสมือนเป็นตู้ของธนาคารเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝาก ถอน และโอน ฟรี! ไม่มีค่าธรรมเนียม

สำหรับการให้บริการสาขา ธนาคารได้เปิดตัวสาขาที่ให้บริการร่วม (Co-Loca-tion) ระหว่างทีเอ็มบี และธนชาตไปแล้ว 73 สาขา โดยสิ้นปี 2563 เป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 100 สาขา ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารสามารถเข้าไปทำธุรกรรมที่ Co-Location ได้ปกติ

ทั้งนี้ หลังควบกิจการสาขาทั่วประเทศจะเหลือเพียง 600 สาขา จาก 900 สาขา

พร้อมขีดเส้นว่าภายในวันที่ 5 ก.ค. 2564 การควบรวมกิจการทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตเป็นหนึ่งเดียว เสร็จสิ้นสมบูรณ์ 100%.

ประพัฒน์ เนตรอัมพร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ