เร่งเงินให้หมุนไว...เร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เร่งเงินให้หมุนไว...เร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

Date Time: 5 ต.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ไม่นานนี้มีโอกาสได้ฟังมุมมองที่น่าสนใจว่า การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (digital payment) จะช่วยให้เงินหมุนเร็วขึ้น และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจปรับตัว

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ไม่นานนี้มีโอกาสได้ฟังมุมมองที่น่าสนใจว่า การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (digital payment) จะช่วยให้เงินหมุนเร็วขึ้น และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวรับกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปตั้งแต่เกิดโควิด-19 เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หันไปช็อปปิ้งและจ่ายชำระเงินในระบบออนไลน์สูงขึ้นมาก วันนี้จึงอยากมาชวนคิดกันค่ะว่า digital payment จะเร่งเงินให้หมุนไวและเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จริงหรือ

เริ่มจากมาทำความรู้จักกับ “อัตราการหมุนของเงิน” กันก่อนค่ะ ปกติ วัดได้จากจำนวนรอบที่ “ปริมาณเงิน” ถูกนำไปใช้ซื้อขายสินค้าและบริการในประเทศ หรือคำนวณง่ายๆ โดยเอามูลค่า GDP หารด้วย ปริมาณเงิน จะบอกให้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงจะบอกให้รู้ถึงพฤติกรรมการเก็บเงินของประชาชนและธุรกิจเป็นเงินสดและเงินฝากเพื่อคงสภาพคล่องและรักษามูลค่าได้ด้วย

“ปริมาณเงิน” มีหลายนิยาม แต่ที่นิยมใช้กันคือ“ปริมาณเงินความหมายกว้าง (broad money)” ที่นับรวมเงินสด เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ โดยอัตราการหมุนของปริมาณเงินช่วยให้เห็นว่า กิจกรรมในระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการหมุนของเงินสดและเงินฝากกี่รอบ ถ้า เศรษฐกิจไม่ดี เงินจะหมุนได้น้อย เพราะผู้บริโภคและธุรกิจมีพฤติกรรมเก็บเงินมากกว่าใช้เงิน ส่วนสถาบันการเงินก็ระมัดระวังการนำเงินฝากไปปล่อยสินเชื่อต่อเพราะกลัวหนี้เสีย เงินเลยไม่สะพัด

ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อัตราการหมุนของปริมาณเงินในไทยค่อนข้างนิ่งราว 0.2 เท่า สะท้อนว่า จังหวะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยขยับไปพร้อมกับการเติบโตของปริมาณเงิน แต่อัตราหมุนที่ค่อนข้างต่ำกำลังบอกเราว่า ขนาดเศรษฐกิจไทยยังเล็กเมื่อเทียบกับปริมาณเงินที่มีในระบบ พอมาช่วงโควิด-19 อัตราการหมุนของเงิน ช้าลง 20% เหลือเพียง 0.16 เท่า น่าสังเกตว่า ปริมาณเงินในไทย หมุนช้ากว่าในต่างประเทศมาก เช่น ปริมาณเงินในสหรัฐฯ หมุนได้เกิน 2 เท่าในช่วงก่อนวิกฤติปี 2551 แต่เพิ่งลดลงมาเหลือ 1 เท่ากว่าในช่วงโควิด-19 นี้

สาเหตุที่อัตราการหมุนของเงินในไทยลดลงมากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 มาจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ซึมเซาหดตัวถึง -12% ขณะที่ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นถึง 11% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะคนไม่มั่นใจที่จะเก็บเงินไว้ในสินทรัพย์รูปแบบต่างๆ จึงไถ่ถอนโยกย้ายมาเก็บเป็นเงินสด หรือเงินฝากมากขึ้น เงินสดและเงินฝากโดยรวม ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ จึงเติบโตขึ้นมาก 16% และ 11% เทียบจากปีก่อน ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการเร่งอัดฉีดเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลอีกราว 3 แสนล้านบาทที่มีส่วนทำให้ปริมาณเงินในระบบมีมากขึ้น

จริงอยู่ว่า digital payment เข้ามาช่วยให้การจ่ายโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น ลดต้นทุนและเวลา ทำได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออินเตอร์เน็ต ส่วนผลศึกษาของ ธปท.ก็สนับสนุนว่า digital payment ช่วยให้เงินหมุนเร็วขึ้น แต่อย่าลืมว่าคนจะตัดสินใจกดปุ่มใช้จ่ายออนไลน์ได้เร็ว ก็ต้องอุ่นใจด้วยว่ามีเงินใช้จริงๆ ดังนั้น ปัจจัยหลักที่จะทำให้เงินหมุนเร็วขึ้นจึงมาจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจและความมั่นใจของประชาชนด้วย ถ้าคนมีงานทำ มีรายได้แน่นอน ไม่ต้องกังวลจะตกงาน ถูกลดเงินเดือน กิจการจะต้องปิดก็กล้าใช้เงิน เงินก็จะหมุนเปลี่ยนมือเป็นทอดๆได้ไม่จบ แต่ถ้าคนยังกังวล พอได้เงินมาก็จะเก็บออมมากขึ้น ใช้จ่ายไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เงินก็หมุนเปลี่ยนมือช้าลง

การจะเร่งให้เงินหมุนไวขึ้นในยามวิกฤติ คงไม่ใช่แค่ออกมาตรการแจกเงินเยียวยา พักหนี้หรือเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว แต่ภาครัฐคงต้องมองถึงนโยบายที่สร้างความมั่นใจในทิศทางเศรษฐกิจ การมีงานทำ มีรายได้ที่แน่นอนด้วย รวมถึงสร้างบรรยากาศให้คนที่มีเงินสดเงินฝากตุนอยู่เยอะอยากช่วยใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัย digital payment ที่รอท่าอยู่จะช่วยให้ข้อต่อการใช้จ่ายหมุนเงินเป็นทอดๆไวขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้ฟื้นกลับมาในเร็ววันค่ะ

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ