แบงก์ชาติ ออกหลักเกณฑ์คุมสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายฐานกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน ให้กู้เงินได้ง่ายขึ้น
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ธปท. ออกหนังสือเวียนเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน ให้สามารถใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) เป็นข้อมูลประกอบในการขอสินเชื่อ
สำหรับ สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซึ่งผู้ประกอบการจึงมีข้อมูลรายได้ หรือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ ในการประเมินความสามารถ หรือความเต็มใจในการชำระหนี้
รวมทั้งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในขั้นตอนการให้บริการสินเชื่อ ได้แก่ การเบิกจ่ายและรับชำระคืนสินเชื่อ และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ เช่น อัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียม และการแสดงภาระหนี้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ผู้บริโภคแต่ละรายรวมไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ไม่สามารถพิสูจน์รายได้ และกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลทางเลือกต่างๆ ในการให้บริการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงช่วยสร้างข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ในระบบการเงินให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการใช้บริการทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล สามารถแจ้งความประสงค์มายัง ธปท. โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องสามารถสาธิตผลิตภัณฑ์และบริการต้นแบบ (Minimum Viable Product: MVP) ที่สะท้อนรูปแบบการให้บริการตามที่ ธปท. กำหนด