ที่ผ่านมาคอลัมน์นี้ได้มีข้อมูลความรู้ หลักคิดและหลักปฏิบัติในการวางแผนบริหารจัดการการเงิน เพื่อนำชีวิตไปสู่ความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงิน
ปัจจัยหลักที่จะทำให้เรามีเงินออมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลคือ
1.ระยะเวลาในการออม ยิ่งออมเร็วออมยาวออมสม่ำเสมอ เงินออมยิ่งเพิ่ม
2.จำนวนเงินที่ออม ยิ่งออมมาก เงินก็จะก้อนใหญ่ขึ้น
3.สำคัญคือการนำเงินออมไปลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย ยิ่งได้ผลตอบแทนสูงก็ยิ่งได้เงินเยอะขึ้น!!
“การลงทุน” จึงเปรียบเสมือนทางด่วนสู่ความมั่งคั่ง หากตั้งต้นได้เร็ว ออกตัวดี ตั้งเป้าหมาย และวางแผนการลงทุนที่ถูกต้อง ก็ทำให้ถึงเส้นชัยได้เร็วขึ้น
ซึ่งการลงทุนมีหลากหลาย ทั้งลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หุ้นกู้ อนุพันธ์ อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุน และต้องการเรียนรู้เพื่อเริ่มลงทุนนั้น ในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th หัวข้อ “ความรู้การลงทุน” หน้า “ห้องเรียนนักลงทุน” มีข้อแนะนำและหลักคิดสำหรับ “มือใหม่เริ่มลงทุน” ไว้อย่างน่าสนใจ สำหรับผู้ที่ไม่รู้จะลงทุนอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน
โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้อง “รู้จักตนเอง” ถามตัวเองก่อนว่า “เป้าหมาย” การลงทุนของเราคืออะไร? ต้องการใช้เงินเท่าไหร่? และต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อใด?
เช่น ต้องการลงทุนเพื่อบั้นปลายชีวิต ลดหย่อนภาษี เอาชนะเงินเฟ้อ หรือทำกำไร ต้องใช้เงินเท่าไร โดยระบุจำนวนให้ชัดเจน เพราะแต่ละเป้าหมายใช้เงินต่างกันและกำหนดเวลาบรรลุเป้าหมาย เช่น ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ระยะกลาง 1-5 ปี หรือระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
จากนั้นมาพิจารณา “เงื่อนไข” การลงทุนของเรา เช่น เราอายุเท่าไร ชอบหรือสนใจลงทุนในสินทรัพย์ไหน? พอมีความรู้หรือไม่? มีเงินลงทุนมากน้อยเพียงใด? ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่? และมีเวลาติดตามข่าวสารด้านการลงทุนหรือไม่? หากขาดทุนจะยอมรับได้ในวงเงินไม่เกินเท่าไหร่? หากได้กำไรจะเพิ่มวงเงินในการลงทุนหรือไม่?
สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน?” จะได้รู้ว่าเราควรลงทุนแบบไหน ต้องจัดสัดส่วนหรือกระจายการลงทุนแบบใดที่จะเหมาะสม เพื่อให้บรรลุหรือใกล้เคียงเป้าหมายมากที่สุด
หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ยอมรับความผันผวนได้น้อย คือไม่ต้องการขาดทุนให้เงินต้นหดหาย การลงทุนส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่การรักษาเงินลงทุนให้ปลอดภัย ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจทำให้โอกาสได้ผลตอบแทนไม่สูง
รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ยอมรับความผันผวนได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่มากจนเกินไปเพื่อแลกกับการได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นและหวังให้เงินลงทุนบางส่วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
หรือหากรับความเสี่ยงได้สูง เพราะมุ่งหวังจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมถึงโอกาสที่เงินลงทุนจะเติบโตเพิ่มขึ้นก็มีมาก ขณะเดียวกันก็มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน
เมื่อรู้จักตัวเองดีแล้ว...คราวหน้ามาดูกันว่า สินทรัพย์ต่างๆที่จะเลือกลงทุนนั้น มีความเสี่ยงและโอกาสได้ผลตอบแทนสูง-ต่ำ หรือมีข้อดี-เสียอย่างไร เพื่อช่วยให้เราจัดสรรเงินลงทุนได้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้!!
คุณนายพารวย