กรมสรรพากร ลงนามบริหารภาษีระหว่างประเทศ ร่วมกับ 160 ประเทศทั่วโลก อุดช่องโหว่กฎหมายอี–เซอร์วิส ที่จะมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากค่าใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลบริษัทต่างชาติ ขณะที่เตรียมลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จ่ายผ่าน e–Withholding Tax เหลือ 2% ตั้งแต่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ร่วมลงนามสนธิสัญญาภาคีสมาชิกเพื่อร่วมบริหารภาษีระหว่างประเทศ (Mutual assistant on tax administration) กับ 160 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อให้กรมสรรพากรแต่ละประเทศส่งข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในประเทศตนเองมาให้กรมสรรพากร เพื่อนำมาประเมินภาษีที่ต้องจัดเก็บหากมีบริษัทต่างชาติเปิดให้บริการแพลตฟอร์มในไทย
ทั้งนี้ การใช้วิธีนี้จะเป็นการอุดช่องโหว่ ในการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส หรือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากค่าบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย ที่มีรายได้จากค่าบริการตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป จะต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย เพื่อเสียแวตในอัตรา 7% จากรายได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบังคับใช้ โดยปัจจุบันแต่ละปีเม็ดเงินที่ผู้ประกอบการไทย จ่ายค่าใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริษัทต่างชาติราว 40,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่เจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย ดังนั้นกฎหมายอี-เซอร์วิส จะสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการในประเทศมากขึ้น และทำให้สรรพากรมีรายได้จากภาษีแวตมากกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท
“ก่อนจะเข้า ครม.คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แนะนำกรมสรรพากรว่า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ และถ้าบริษัทดิจิทัลต่างชาติไม่ยอมทำตามกฎหมายที่รัฐบาลออกมาจะทำอย่างไร และจะใช้อำนาจอะไรไปบังคับจัดเก็บภาษี เพราะหลายประเทศแม้จะออกกฎหมายมาแต่ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติได้ทั้งหมด ดังนั้นกรมจึงได้ไปหารือกับประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศ และกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งหลายประเทศออกกฎหมายใหม่มาใช้ในการจัดเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ ซึ่งกรมสรรพากรเห็นว่าเป็นวิธีที่ดี จึงมีการลงนามเพื่อบริหารภาษีระหว่างประเทศร่วมกัน”
นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมสรรพากรเตรียมจะออกประกาศกรมสรรพากร ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จากเดิมอยู่ที่อัตรา 3% เหลือ 2% ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.63-31 ธ.ค.64 โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวกลางในการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบ e-Withholding Tax ทำให้ผู้ใช้บริการ ไม่ต้องเก็บหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่ายในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป เพราะธนาคารจะเป็นผู้ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยตรง
ทั้งนี้ การหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยวิธีนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและบริษัทต่างๆ เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะเก็บหลักฐานการเสียภาษีไม่ครบ ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณภาษีได้ เพราะข้อมูลจะถูกบันทึกอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ธนาคารส่งผ่านระบบมาได้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้กระบวนการคำนวณภาษีและการจ่ายภาษีคืนรวดเร็วขึ้น
“วิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนค่ากระดาษที่ต้องปรินต์จำนวนมาก จากเดิมหากไปใช้บริการการเงินที่ธนาคาร จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งธนาคารจะต้องปรินต์ใบหักภาษี ณ ที่จ่ายมาให้ผู้ใช้บริการเก็บไว้ เพื่อนำไปยื่นกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีช่วงท้ายปี ซึ่งประชาชนบางรายอาจทำหาย หรือบางรายเมื่อถึงเวลาชำระภาษี อาจจะลืมว่ามีใบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอยู่เพราะได้รับตั้งแต่ต้นปี ทำให้เกิดความยุ่งยากในการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และยังทำให้การจ่ายคืนภาษีล่าช้า”
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์แล้วกว่า 90% เหลืออีก 10% ที่ยังส่งแบบชำระภาษีรูปแบบเดิม โดยปีนี้กรมสรรพากรคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว 2.8 ล้านราย คิดเป็น 95% ของจำนวนผู้ที่ขอคืนภาษี 2.91 ล้านราย หรือคิดเป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลกรมสรรพากรคืนภาษีไปแล้วกว่า 28,000 ล้านบาท.