ธปท.ออกเกณฑ์กองทุน BSF แจงจะช่วยซื้อ 50% ของวงเงินต่ออายุในเกรดลงทุนได้ คิดดอกเบี้ยแพงกว่าตลาด 1-2% ให้สูงสุดไม่เกิน 12,000 ล้านบาทต่อราย ขณะที่ พ.ร.ก.ระบุชัดหากกองทุน BSF เกิดความเสียหาย คลังจะชดเชยให้ 40,000 ล้านบาท ส่วนกลไกการช่วยซื้อสินทรัพย์กองทุนรวมผ่านแบงก์เพื่อลดความผันผวนตลาด 1 ล้านล้านบาทแรก มีกองทุนมาใช้แล้วกว่า 30 แห่ง 5.6 หมื่นล้านบาท
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง ของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เปิดเผยว่า วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่กองทุน BSF เปิดให้บริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ และได้กำหนดกรอบการดำเนินงานตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF ดังนี้
1.ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในไทย ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และบริษัทต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุนได้ (investment grade) ได้เรตติ้งต่ำสุด BBB-หรือเทียบเท่า เช่นเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade โดยอันดับความน่าเชื่อถือต้องได้รับการจัดอันดับไม่เกิน 1 เดือนก่อนที่เข้ารับความช่วยเหลือ
“ตราสารหนี้ที่เข้าเกณฑ์ต้องเป็นตราสารหนี้ที่เสนอขายทั่วไป ไม่ใช่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางให้ความช่วยเหลือตราสารหนี้ที่อันดับต่ำกว่านี้ โดยมองว่าระดับ investment grade ครอบคลุม 90% จากตราสารหนี้ 3.6 ล้านล้านบาทแล้ว และที่เหลือส่วนใหญ่ผู้ลงทุนเป็นกลุ่มเฉพาะที่มีความรู้ในทางการเงิน”
2.รูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF บริษัทต้องหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดและต้องการต่ออายุ (rollover) โดยอย่างน้อย 20% เป็นการระดมจากประชาชนทั่วไป อีกอย่างน้อย 20% ขอสินเชื่อใหม่ หรือให้สถาบันการเงินลงทุน หากยังไม่ครบ 50% สามารถหาจากแหล่งเงินอื่น เช่น เจ้าของ ผู้ถือหุ้น ฯลฯ ที่เหลือไม่เกิน 50% จึงมาขอความช่วยเหลือ โดยกองทุน BSF จะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 270 วัน มีต้นทุนการกู้ยืมเท่ากับอัตราการกู้ยืมในตลาดบวกเพิ่มอีก 1-2% และเหตุผลที่ให้ระดมทุนจากประชาชน และสถาบันการเงินก่อน เพราะการลงทุนของสถาบันการเงินต้องมีการศึกษาแผนงานและตัวบริษัทอย่างดี มีความเชื่อมั่นถึงจะตัดสินใจลงทุน จึงเป็นการคัดกรองกองทุน BSF ระดับหนึ่ง
3.เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว เงินที่ได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิม ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล และต้องกำหนดแผนระยะยาว เพื่อหาเงินทดแทนความช่วยเหลือของกองทุน BSF บริษัทที่ต้องการขอความช่วยเหลือสามารถยื่นขอต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน ก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอน 45 วัน แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน ในระยะแรก 1-2 เดือนนี้ ให้ยื่นก่อนครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 15 วัน
4.ขอบเขตของการช่วยเหลือ กองทุน BSF กำหนดว่าจากวงเงินรวม 400,000 ล้านบาท จะให้ความช่วยเหลือแต่ละรายไม่เกิน 3% หรือไม่เกิน 12,000 ล้านบาทต่อราย หากเป็นกลุ่มธุรกิจจะให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 10% หรือไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดยการลงทุนดังกล่าวจะต้องไม่เกิน 10% ของหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่มีขอรับความช่วยเหลือ โดยเมื่อคณะกรรมการกำกับกองทุน BSF และคณะกรรมการลงทุนอนุมัติแล้ว การดำเนินการจะทำผ่าน บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นที่ปรึกษาของกองทุน BSF
“กรณีมาตรา 20 ใน พ.ร.ก.ที่กำหนดว่า หากกองทุน BSF มีกำไรเกิดขึ้นให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่หากเกิดความเสียหาย กระทรวงคลังจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ว่า การจัดตั้งกองทุน BSF ทำเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น การช่วยเหลือสภาพคล่องกับความช่วยเหลือด้านเครดิตใกล้เคียงกัน ที่สุดหากเกิดปัญหารุนแรงและมีความเสียหาย รัฐสัญญาจะชดเชยความเสียหายให้ ซึ่งก่อนหน้าได้มีการทำแบบทดสอบกรณีเลวร้าย พบว่าความเสียหายจะไม่เกิน 40,000 ล้านบาท แต่หากดำเนินการไปแล้วมีความเสียหายมากกว่า ธปท.และคลังจะมีการหารือกันต่อไป”
สำหรับการช่วยเหลือสภาพคล่องของกองทุนรวมตราสารหนี้ ในส่วน Mutual Fund Liquidity Facility (MFLF) ที่ให้ธนาคารพาณิชย์ซื้อสินทรัพย์ของกองทุนรวม และนำมาขอสินเชื่อจาก ธปท. 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง และชำระคืนแก่นักลงทุนที่ขายตราสารหนี้ในช่วงที่ตลาดตราสารหนี้โลก และไทยมีความผันผวนจากโควิด-19 ล่าสุด ณ วันที่ 24 เม.ย. มียอดคงค้างธุรกรรม MFLF สุทธิ 56,047 ล้านบาท โดยมีธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกรรมกับ ธปท. รวม 9 ราย และกองทุนที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 30 กองทุน.