แบงก์ชาติออก 2 ร่าง พ.ร.ก.ใน 4 มาตรการ พักหนี้เอสเอ็มอี 6 เดือน ให้เงิน 500,000 ล้านบาท ปล่อยกู้เอสเอ็มอีดอกเบี้ยไม่เกิน 2% รัฐรับดอกเบี้ย 6 เดือนแรก แถมปล่อยแล้วเป็นหนี้เสีย ชดเชยเงินให้ 60–70% ตั้งกองทุน 4 แสนล้านซื้อตราสารหนี้เอกชน ชี้ถือเป็นการตั้งโรงพยาบาลสนามรับมือกรณีเอาไม่อยู่ ลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯลงเหลือ 0.23% กดดันแบงก์ลดดอกเบี้ยกู้ลงทันที
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตามมาตรการเยียวยาฯ ชุดที่ 3 โดยประกอบด้วย 2 ร่าง พ.ร.ก.ที่จะให้อำนาจเพิ่มเติมกับ ธปท. คือ 1.ร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และ 2.ร่าง พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ใน 4 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 การพักหนี้ โดยให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเลื่อนการชำระหนี้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ไป 6 เดือน ได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต
อย่างไรก็ตาม หากเอสเอ็มอีใดที่ไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่องในช่วงนี้ ธปท.ระบุว่า ควรชำระหนี้ตามปกติหรือตามความสามารถ เพราะมาตรการนี้เป็นเพียงการเลื่อนวันชำระหนี้เท่านั้น ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่ และการชำระหนี้ตามปกติจะช่วยให้ธนาคารมีสภาพคล่องที่จะไปดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นด้วย โดยมาตรการนี้คาดว่าจะช่วยลูกหนี้ได้ 1.7 ล้านราย ในวงเงินรวม 2.4 ล้านล้านบาท
มาตรการที่ 2 การสนับสนุนสินเชื่อใหม่(soft loan) ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยต่อแรกให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง ธปท.จะเป็นคนออกเงินสินเชื่อใหม่ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้ธนาคารนำไปให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอี โดยเอสเอ็มอีจะต้อง มีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 โดยไม่ครอบคลุมถึง บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยวงเงินใหม่ที่จะให้กู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้สิ้นปี 2562
ขณะที่ต่อที่ 2 คือ สินเชื่อดังกล่าวจะไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทน และเพื่อจูงใจให้ธนาคารเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่ รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายบางส่วนให้แก่ธนาคาร หากกรณีที่หนี้ที่ปล่อยกลายเป็นหนี้เสียเมื่อครบ 2 ปี โดยชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อลูกหนี้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกิน60% สำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท
มาตรการที่ 3 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักลงทุนเทขายตราสารหนี้ออกมาจำนวนมาก เพราะต้องการถือเงินสดในช่วงที่มีความผันผวนสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งมียอดคงค้าง 3.6 ล้านล้านบาทหรือกว่า 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) และหากกลไกนี้ไม่สามารถทำงานได้ปกติ หรือผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่น การระดมทุนหรือต่ออายุหนี้ (rollover) จะทำได้ยาก เพิ่มความเสี่ยงลุกลามในวงกว้าง
ธปท.และกระทรวงการคลังจึงเห็นควรจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) ในวงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราวเพื่อเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่มีตราสารหนี้ หรืออินเวสเม้นท์เกรด ครบกำหนดชำระในช่วงปี 63-64 โดยบริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจะต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด และต้องมีการระดมทุนส่วนใหญ่จากแหล่งเงินทุนอื่นก่อน หลังจากนั้นหากไม่พอ จึงจะมาขอความช่วยเหลือจากกองทุนฯ และหากผู้ออกตราสารหนี้เสนอขายตราสารหนี้ต่อนักลงทุนทั่วไป และมีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือกองทุน BSF ที่ลงทุนในคราวเดียวกันต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น
“การตั้งกองทุนดังกล่าว เป็นการเตรียมเครื่องมือไว้เผื่อสถานการณ์ลุกลาม เช่นเดียวกับการสร้างโรงพยาบาลสนามไว้ ในกรณีที่โรงพยาบาลไม่เพียงพอ ซึ่ง ธปท.คาดว่า หากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นจะใช้เงินส่วนนี้น้อยที่สุด หรือไม่ต้องใช้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากความต้องการความช่วยเหลือมาก ธปท.ก็พร้อมจะเพิ่มวงเงินได้เช่นกัน”
นายวิรไท กล่าวต่อว่า มาตรการที่ 4 มาตรการสุดท้าย คือ การลดเงินนำส่งของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จากเดิมนำส่งในอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที โดยมาตรการนี้ ธปท.ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทยก่อนหน้า โดยจากมาตรการนี้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ได้ทันที ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 0.23% ที่ ธปท.ลดให้ โดยมาตรการทั้งหมดนี้ ธปท.คาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้.