สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มต้นจากประเทศจีน ปัจจุบันทวีความรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นทั่วโลก ลุกลามไปยังประเทศอิตาลี และประเทศในยุโรป ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวหนักสุด ทั่วโลกยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาประเมินว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยหายไป 8.3 ล้านคน โรงแรม โลจิสติกส์ ภัตตาคารและร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สูญเสียรายได้สูงถึง 410,000 ล้านบาท พนักงาน คนงานต้องตกงานสูงถึง 200,000 คน จากการจ้างงาน 4 ล้านคน
ขณะที่ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบเช่นกัน ประเมินว่าปีนี้การส่งออกติดลบ 5.6% ส่วนการใช้จ่ายบริโภคในประเทศลดลงเช่นกัน เพราะผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายและเดินทางออกนอกบ้าน ประเมินว่าธุรกิจค้าปลีกกระทบไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท
จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญ ภัยแล้ง ค่าเงินบาทผันผวน และสงครามการค้า เป็นเหตุให้บรรดากูรูด้านเศรษฐกิจ ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ อาทิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดจีดีพีจาก 2.7% เหลือ 0.50% บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ปรับลดจีดีพีจาก 1.4% เป็น -0.4% ล่าสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดจีดีพี จากเดิม 1.8% เป็น -0.3%
เศรษฐกิจไทยทรุดหนักอีกทั้งก้าวสู่ภาวะถอดถอย รายได้ของภาคครัวเรือน และรายได้ภาคธุรกิจลดลงอย่างรวดเร็ว
“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์และรวบรวมมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ และรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อผู้คนที่กำลังขาดสภาพคล่องในตอนนี้สามารถใช้เป็นคัมภีร์ในการหาช่องกู้เงินได้ ตามนี้...
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกได้ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ใช้บริการสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเพื่อธุรกิจระหว่างประเทศ และสินเชื่อเช่าซื้อ รวมถึงการช่วยเหลือพนักงานและลูกจ้างของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งใช้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบัตรเครดิต เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมุ่งหวังให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ในตอนนี้ไปได้
สำหรับแนวทางที่ให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ โรงแรม โลจิสติกส์ ภัตตาคารและร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจบันเทิง ร้านขายของที่ระลึก และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย โดยไม่ต้องชำระเงินต้น ระยะเวลาสูงสุด 1 ปี
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการ ขยายระยะเวลาในการชำระตั๋ว Packing Credit หรือตั๋ว P/N สำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก โดยขยายระยะเวลาตั๋ว สูงสุดครั้งละ 3 เดือน
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 1 ปี สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล พิจารณาเป็นรายกรณี โดยมี 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 การผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยระยะเวลาสูงสุด 1 ปี และพิจารณาลดดอกเบี้ย และทางเลือกที่ 2 แปลงหนี้เดิมทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นสินเชื่อใหม่ และพิจารณาให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 1 ปี และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนและขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ
“สมาคมธนาคารไทยจะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ในการช่วยเหลือเพื่อให้การดำเนินงานต่างๆของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเดินต่อไปได้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพได้ปรับเพิ่มมาตรการช่วยเหลือลูกค้า และขยายกลุ่มให้ครอบคลุมสินเชื่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั้งจากสงครามการค้า ภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคล ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
อาทิ เพิ่มวงเงินให้ความช่วยเหลือต่อราย ผ่อนผันการชำระหนี้ ปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้และอัตราดอกเบี้ย ยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดและค้างชำระ เพิ่มเติมจากมาตรการที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ ทั้งการปรับและผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ การช่วยเหลือด้านเงินทุนและเสริมสภาพคล่องกิจการระยะสั้น และการสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม
โดยธนาคารมีการพิจารณาปรับและผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ และการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้าเป็นรายกรณี ในส่วน ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมตามโครงการ “สินเชื่อบัวหลวง SMEs บรรเทาทุกข์จากภาวะเศรษฐกิจ” เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนและเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ เพิ่มวงเงินต่อรายสูงสุดจาก 20 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) –1% ต่อปี หรือพิจารณาผ่อนผันตามความเหมาะสมแต่ละกรณี
ด้านลูกค้าบุคคล ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิต ธนาคารช่วยเหลือ ปรับเงื่อนไขผ่อนผันให้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ตามยอดเรียกเก็บไม่เกิน 3 รอบบัญชี ปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำให้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้าง และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตราปกติ 50% ไม่เกินเดือนธันวาคม 2564 และ ยกเว้นดอกเบี้ยจากหนี้ที่ค้างชำระ ซึ่งเกิดจากปัญหาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
สำหรับลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคลอื่นๆ ธนาคารได้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความเหมาะสม ผ่อนผันให้ปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ปรับยอดผ่อนชำระรายเดือนลงสูงสุด 40% สูงสุดไม่เกิน 24 เดือน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ระยะเวลาหนึ่งตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี และยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งเกิดจากปัญหาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจเปราะบางจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ธนาคารกรุงไทยจึงได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระลูกค้าอย่างทั่วถึง มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้และเสริมสภาพคล่อง
โดย ลูกค้ารายย่อยที่กู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบุคคล ธนาคารพักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน นอกจากนี้ สามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากสินเชื่อ Home for Cash โดยใช้หลักประกันเดียวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีกับธนาคาร
ส่วน ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ประกอบด้วย การพักชำระหนี้เงินต้นวงเงินสินเชื่อระยะยาว สูงสุด 12 เดือน ขยายระยะเวลาการชำระหนี้สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ สูงสุด 6 เดือน ที่สำคัญ ธนาคารได้ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องตามสถานการณ์ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โรงแรม การส่งออกสินค้าไปยังจีนและประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารกรุงไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กโดยได้พักชำระหนี้และขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง เป็นกรณีเร่งด่วนไปแล้วกว่า 200 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า ยังมีลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้อีกประมาณ 4,000 ราย ธนาคารกรุงไทยได้เร่งติดต่อเพื่อให้การช่วยเหลือจำนวน 1,900 ราย และเตรียมสำรวจสุขภาพทางการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงรุกอีกกว่า 2,000 ราย รวมวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้นกว่า 40,000 ล้านบาท
สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคารได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ธนาคารจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรี อยุธยาและบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ป ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล โดยพิจารณาตามสภาพการณ์ของธุรกิจและความเดือดร้อน เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบแต่ละราย
สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด ลูกค้าสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด ลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ พักชำระหนี้ สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด
ลูกค้ากรุงศรี คอนซูมเมอร์ ลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล พักชำระหนี้ สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน บัตรเครดิต ลดอัตราการผ่อนชำระจาก 10% เป็น 5% และสินเชื่อส่วนบุคคล ลดอัตราการผ่อนชำระจาก 5% เป็น 3% หรือปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือน
ด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจให้กับลูกค้าจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยครอบคลุมทั้งสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและสินเชื่อลูกค้าบุคคลธรรมดา โดยมี มาตรการขยายเวลาชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และ มาตรการทางด้านดอกเบี้ยและค่าปรับ รวมถึงสภาพคล่องระยะสั้น และมาตรการอื่นๆ เป็นรายกรณี จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง
ทั้งนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้า ประกอบด้วย ลูกค้าธุรกิจ โดยการพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน ขยายระยะเวลาวงเงินหมุนเวียน อาทิ ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ P/N, สินเชื่อเพื่อการนำเข้า หรือ T/R และสินเชื่อเพื่อการส่งออก หรือ P/C สูงสุด 6 เดือน
นอกจากนี้ ธนาคารจะ พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย พักชำระค่างวดสูงสุด 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สำหรับลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารจะพักชำระยอดหนี้สูงสุด 6 เดือน
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดย ลูกค้าที่ใช้สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ และสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 12 เดือน ลูกค้าที่ใช้สินเชื่อบุคคล บัตรเงินด่วน และบัตรเครดิต ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2563
ทุกฝ่ายรับรู้วิกฤติครั้งนี้ยิ่งใหญ่ จึงนับเป็นครั้งแรกที่แบงก์พาณิชย์-สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกประเภท หากมีปัญหาการเงินหมุนไม่คล่องตัว หรือเงินขาดมือ รีบศึกษาข้อมูล พร้อมติดต่อไปยังธนาคารของตัวเอง เพื่อขอความช่วยเหลือ หากขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปรึกษาบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำให้ได้
สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมด 7 แห่ง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้าสินเชื่อบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สงครามการค้า ภัยแล้ง น้ำท่วม และราคาผลผลิตตกต่ำ
โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบภาคอุตสาหกรรมต่างๆในวงกว้าง ธนาคารออมสินจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มลูกค้ารายย่อย สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงลูกค้าที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มเติมดังนี้
พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี และในระหว่างนั้นให้ชำระแต่ดอกเบี้ย 50-100% ของดอกเบี้ย ประจำงวด ตามกำหนดในสัญญา แต่ไม่ต่ำกว่า 4% ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งหากลูกค้าทำได้ ธนาคารจะจ่ายเงินในส่วนของดอกเบี้ยคืน (Cash Back) ในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระคืน โดยจ่ายให้ลูกค้า 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า
ในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระหรือที่ชำระไม่ครบนั้น ให้เฉลี่ยจ่ายคืนสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาพักชำระเงินต้น แต่สูงสุดไม่เกิน 4 ปี โดยลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้ สถานะจะยังเป็นลูกหนี้ปกติ ไม่มีการบันทึก สถานะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในเครดิตบูโร เปิดให้ลงทะเบียนที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.63 ถึง 30 มิ.ย.63
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.63 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.01% เพื่อปล่อยกู้ให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในอัตรา 2% วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งสงครามการค้า ภัยแล้ง และโควิด-19 ให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย กรอบวงเงินทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1.กรณีอยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยตามมาตรการของรัฐ เช่น โครงการบ้านล้านหลัง ดอกเบี้ยคงที่ 3% นาน 5 ปี เป็นต้น ให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ไม่เกิน 6 เดือน
2.กรณีพ้นระยะเวลาดอกเบี้ยตามมาตรการของรัฐ หากเป็นลูกค้ารายย่อย ใช้อัตรา ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย หรือเอ็มอาร์อาร์ ลบ 1.25% ต่อปี ไม่เกิน 6 เดือน กรณีเป็นลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างแฟลต ใช้อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ลบ 1.25% ต่อปี ยื่นคำร้องได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 ธ.ค.63
และ 3.กรณีลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม เป็นต้น ธนาคารจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 4 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 1.00% ต่อปี และให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 มิ.ย.63
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการปิด-เลิกจ้างงาน และเลิกจ้างพนักงาน หรือเลิกจ้างเป็นการชั่วคราว โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2.50% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน ยื่นคำขอได้ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.63
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ สงครามการค้า ภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาผลผลิตตกต่ำ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะเวลาดำเนินมาตรการ 2 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.63 ถึง 31 ธ.ค.64
ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ปกติ ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 ให้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ไม่เกิน หนี้เดิม ตั้งแต่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยถ้าเป็นกรณีเกษตรกรและบุคคลชำระได้ไม่เกิน 15 ปี ปลอดชำระต้นเงินได้ไม่เกิน 3 ปีแรก กรณีผู้ประกอบการและสถาบัน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ 20 ปี และปลอดชำระต้นเงิน ได้ไม่เกิน 3 ปีแรก และลดดอกเบี้ยเดิมให้แก่ลูกหนี้แต่ละรายไม่ต่ำกว่าเอ็มอาร์อาร์ และเอ็มแอลอาร์
ขณะที่ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ให้การช่วยเหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้สินเดิมเช่นกัน ถ้าเป็นเกษตรกรและบุคคล ในส่วนเงินกู้เดิมก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 15 ปี และปลอดชำระต้น 3 ปีแรก รวมถึงให้ลดดอกเบี้ยเดิมและใหม่เหลือเอ็มแอลอาร์ ถึงเอ็มอาร์อาร์ ลบ 1%
ขณะที่หนี้เสียของผู้ประกอบการ ให้ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 20 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก และลดดอกเบี้ยเหลือเอ็มแอลอาร์ ถึงเอ็มอาร์อาร์ ลบ 0.5% นอกจากนี้ ยังเตรียมสินเชื่อใหม่ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนวงเงินกู้ 100,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยตามชั้นลูกค้า
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ออกชุดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 “พัก-ขยาย-เติม” เพื่อช่วยลดภาระธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตตาคาร เป็นต้น และทางอ้อม ประกอบด้วย
1.มาตรการ “พัก” ชำระหนี้เงินต้นสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรง นานสูงสุด 12 เดือน และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม 6 เดือน
2.มาตรการ “ขยาย” เวลาชำระหนี้ออกไปอีก 5 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจ และลูกค้าที่ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5-7
และ 3.มาตรการ “เติม” ทุนดอกเบี้ยถูกเสริมสภาพคล่องเพื่อให้ลูกค้ามีเงินทุนไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ นิติบุคคล 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย และบุคคลธรรมดา 5% ต่อปี ใน 3 ปีแรก วงเงิน 500,000 บาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 7 ปี
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ทั้งด้านสินเชื่อและด้านรับประกันการส่งออก โดยลูกค้าสินเชื่อทั้งระยะยาวและระยะสั้นสามารถขอพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้สูงสุด 6 เดือน กรณีลูกค้ามีการค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) PGS ระยะที่ 5-7 สามารถขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ออกไปได้อีกสูงสุด 5 ปี โดยขอรับการ สนับสนุนได้ตั้งแต่ 4 ก.พ.-31 ก.ค.63
ด้านการรับประกันการส่งออก ได้แก่ 1.ขยายระยะเวลาการชำระเงินที่ได้รับการค้ำประกัน โดยให้ความคุ้มครองสูงสุดรวมกันไม่เกิน 270 วัน
2.เพิ่มความคุ้มครองสินค้าที่เน่าเสียง่ายจากการที่ผู้ซื้อในจีนไม่รับมอบสินค้าในอัตรา 50% ของมูลค่าใบกำกับสินค้า
และ 3. ลดระยะเวลาพิจารณาค่าสินไหมทดแทนกรณีผู้ซื้อไม่รับมอบสินค้า สามารถขอรับการสนับสนุนได้ถึงวันที่ 31 ก.ค.63
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกมาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อเป็นระยะเวลา 12 เดือน สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีเดิมของ บสย.ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-31 ก.ค.63
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่อง โดยจะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกิน 40% ของวงเงินค้ำประกัน และให้ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.63
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยพักชำระหนี้เงินต้นและชำระเฉพาะกำไร นานสูงสุด 12 เดือน แต่ไม่เกินเดือน ธ.ค.63 สามารถยื่นคำขอได้ไม่เกินวันที่ 30 เม.ย.63.
ทีมเศรษฐกิจ