คำต่อคำ "ชาติศิริ โสภณพนิช" เหตุผลซื้อ "เพอร์มาตา" เป้าหมายใหม่ในอินโดนีเซีย

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คำต่อคำ "ชาติศิริ โสภณพนิช" เหตุผลซื้อ "เพอร์มาตา" เป้าหมายใหม่ในอินโดนีเซีย

Date Time: 2 มี.ค. 2563 06:01 น.

Summary

  • ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการธนาคารไทย เมื่อธนาคารกรุงเทพทุ่มเงินก้อนโตเฉียด 100,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk)

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการธนาคารไทย เมื่อธนาคารกรุงเทพทุ่มเงินก้อนโตเฉียด 100,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) ธนาคารพาณิชย์อันดับ 12 ของประเทศอินโดนีเซีย ที่มีขนาดสินทรัพย์ 335,000 ล้านบาท สาขา 332 แห่ง และพนักงาน 7,000 คน

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวถือเป็นครั้งแรก ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยใช้เงินจำนวนมหาศาลเข้าเทกโอเวอร์ธนาคารต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่การบุกสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นไปในรูปแบบของการเข้าไปเปิดสาขา หรือเข้าไปร่วมทุนซื้อหุ้นบางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่การใช้เงินเข้าซื้อกิจการแบบเบ็ดเสร็จเช่นนี้

ทันใดที่ธนาคารกรุงเทพเปิดเผยรายละเอียดการเซ็นสัญญาซื้อหุ้นเพอร์มาตาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และพีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค ในสัดส่วน 89.12% ของหุ้นที่ออกจำหน่าย คิดเป็นมูลค่า 81,017 ล้านบาท

ราคาหุ้นของธนาคารกรุงเทพ (BBL) เมื่อเปิดการซื้อขายในวันที่ 12 ธ.ค.2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการเปิดเผยรายละเอียดของอภิมหาดีลในครั้งนี้ ร่วงลงทันที ในการซื้อขายระหว่าง วันราคาลดลงต่ำสุดมากกว่า 5%

ท่ามกลางคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย ว่าทำไมธนาคารกรุงเทพจึงยอมทุ่มเงินมหาศาลซื้อธนาคารขนาดกลางแห่งนี้ หากดีจริงทำไมผู้ถือหุ้นเก่าอย่างธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จึงยอมปล่อยมือจากไปและตลาด อินโดนีเซียมีอนาคตขนาดไหนเชียว

ก่อนที่กระบวนการซื้อขายหุ้นครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์วงการธนาคารไทยจะเสร็จสมบูรณ์ โดย “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะแม่ทัพใหญ่ คาดว่าจะสำเร็จได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

เขาได้ตัดสินใจพูดคุยกับ “ทีมเศรษฐกิจ” เพื่อไขข้อข้องใจทั้งหมดที่มีต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต...

“เราคาดว่าการเข้าซื้อกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราจะต้องผ่านการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2563 เพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าซื้อกิจการ ในวันที่ 5 มี.ค. 2563 ก่อน และต้องได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของประเทศอินโดนีเซียด้วย

ขณะเดียวกันก็ต้องคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดของเพอร์มาตาอีก 10.88% คาดใช้เงินอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 100% รวมมูลค่าการซื้อกิจการทั้งหมดของเพอร์มาตาเบื้องต้นอยู่ที่ราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 90,909 ล้านบาท

ชาติศิริ บอกว่า เข้าใจคำถามที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ก็มั่นใจและแน่ใจว่าธนาคารกรุงเทพพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน ละเอียด ผ่านการว่าจ้างที่ปรึกษาระดับโลกมากกว่า 3 แห่ง

“การเข้าไปซื้อกิจการในครั้งนี้ ตามมุมมองของผม ผมคิดว่าคุ้ม คำนวณแล้วจะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่ไม่ได้ใช้เวลา 1–2 ปี เพราะการเข้าซื้อกิจการธนาคาร เป็นการลงทุนระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป หากมองสั้นจะมีโอกาสผิดพลาดได้”

เขาอธิบายว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ และน้ำมัน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพีอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 2 เท่า โดยจีดีพีของไทยอยู่ที่ 529,177 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปีย้อนหลัง จีดีพีของอินโดนีเซียเติบโตปีละ 6% และแนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้าเติบโตปีละ 5%

มีประชากร 267 ล้านคน มากกว่าไทยเกือบ 4 เท่าตัว ที่สำคัญโครงสร้างประชากรมีคนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มคนที่ครองสัดส่วนมากที่สุด ขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย อายุพลเมืองอินโดนีเซียเฉลี่ยเพียง 29 ปี และในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีประชากรอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคน ทำให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบอีกเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

อินโดนีเซียขณะนี้เหมือนไทยเมื่อช่วงปี 2535 เป็นช่วงที่มีบุคลากรเป็นคนหนุ่มสาวจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดี เพราะคนหนุ่มสาว เมื่อมีงานทำก็มีความ ต้องการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประเทศอินโดนีเซียในขณะนี้มีรายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 4,000 เหรียญสหรัฐฯ เหมือนกับไทยช่วงปี 2535 ที่รายได้ประชากรต่อหัวอยู่ที่ 4,000 เหรียญสหรัฐฯ เช่นกัน

“เศรษฐกิจอินโดนีเซียตอนนี้ช้ากว่าไทยประมาณ 20 ปี มองศักยภาพแล้วพร้อมจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว”

ขณะที่เมื่อมองภาคการเงิน อัตราการเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงมีโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการเติบโตที่ต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดสินเชื่อรวมในอินโดนีเซียมีเพียง 36% ของจีดีพี ขณะที่เวียดนามมียอดสินเชื่อรวมสูงถึง 136% ของจีดีพียอดสินเชื่ออยู่ที่ 82% ของจีดีพี และมีคนที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร 84.4 ล้านคน หรือ 43.3% ของประชากรทั้งหมด

นอกจากนั้น ธนาคารกรุงเทพยังคุ้นเคยกับอินโดนีเซียมายาวนาน เปิดสาขาที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียเป็นสาขาแรก ตั้งแต่ปี 2511 หรือเกือบ 52 ปี ต่อมาได้ขยายสาขาเพิ่มอีก 2 สาขา คือ ปี 2555 เปิดสาขาสุราบายา และปี 2556 เปิดสาขาเมดาน

“ธุรกิจทั้ง 3 สาขาในอินโดนีเซีย ผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ ย้อนหลังไป 4 ปี สินทรัพย์สาขาในอินโดนีเซียเติบโตปีละ 10% ปี 2562 มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2,443 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำไรสุทธิ 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”

ชาติศิริ เล่าว่า ติดตามข้อมูลมานานแล้วว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดอยากขายเพอร์มาตา เป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่ในอังกฤษ ที่ต้องการถอนการลงทุนในเอเชียทั้งหมด ขณะที่แอสทร่า ผู้ถือหุ้นอีกรายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ทำธุรกิจคล้ายเครือเอสซีจีของไทย ไม่มีความถนัดในการทำธุรกิจธนาคาร จึงต้องการขายหุ้นด้วยเช่นกัน

เมื่อต้องการขายก็ต้องพยายามฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะแก้ปัญหาหนี้เสียซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ต่อกรณีนี้ ธนาคารกรุงเทพเข้าไปตรวจสอบจริงจังมาก เพราะเกรงว่าจะมีการตกแต่งตัวเลข อธิบายง่ายๆ ก็คือกลัวถูกหลอก

ย้อนหลังกลับไป เพอร์มาตาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2497 เดิมชื่อว่าธนาคารบาหลี จนในปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรัฐบาลอินโดนีเซียเข้ามาแก้ปัญหาโดยการนำธนาคารพาณิชย์อีก 4 แห่งมาควบรวม พอสถานการณ์ดีขึ้นก็ขายหุ้นให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ พีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค เมื่อปี 2547

เพอร์มาตาประสบปัญหาอีกครั้งในช่วงปี 2558-2559 ตอนที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ยางพาราปรับตัวลดลง ทำให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในสินเชื่อบางประเภท จึงต้องมีการเพิ่มทุนและกันสำรองหนี้จัดชั้นเพิ่มขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง พร้อมเปลี่ยนตัวผู้บริหาร

เมื่อผู้บริหารชุดใหม่เข้ามา ก็ได้พยายามฟื้นฟูกิจการ ภารกิจหลักเน้นการแก้ไขหนี้เสีย จนเอ็นพีแอลปี 2559 จากที่ปรับตัวขึ้นมาสูงถึง 8.8% ของสินเชื่อรวม ลดลงเหลือ 2.8% ของสินเชื่อรวมในปี 2562

ขณะที่พอร์ตสินเชื่ออยู่ในระดับทรงตัวติดต่อกัน 4 ปี โดยอยู่ที่ 7,646 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ในช่วง 9 เดือนของปี 2562) ซึ่งนั่นเป็นเพราะผู้บริหารเน้นแก้หนี้เสียเป็นหลัก พอร์ตสินเชื่อจึงยังไม่ขยายตัวเท่าใดนัก แต่หลังจากนี้เชื่อว่าจะขยายได้อีก (ข้อมูลทางการเงินของเพอร์มาตาดูได้ตามตาราง) โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อ 10%

อย่างไรก็ตาม ชาติศิริ ตั้งใจจะทำให้เพอร์มาตาดำรงสถานะเป็นธนาคารขนาดกลางต่อไป โดยหลังจากควบรวมกับ 3 สาขาของธนาคารกรุงเทพในอินโดนีเซีย จะทำให้เพอร์มาตาขยับขึ้นสู่ 1 ใน 10 ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย (จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 12) ด้วยจำนวนสินทรัพย์ 13,234 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (จากปัจจุบัน 10,791 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

“อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นจำนวนมาก มากกว่า 100 ธนาคาร ขณะที่แบงก์ขนาดใหญ่ 3 ใน 4 อันดับแรก เป็นของรัฐบาล”

เขาเล่าด้วยว่า แอสทร่า ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอินโดนีเซียและเป็นผู้ถือหุ้นเดิม ยืนยันที่จะใช้บริการธนาคารต่อไป แถมยังสามารถสนับสนุนสินเชื่อให้กับแอสทร่าได้เพิ่มเติม เพราะไม่ขัดต่อข้อกฎหมายที่ห้ามธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกต่อไป

ที่สำคัญที่สุด ชาติศิริ ยอมรับว่า เพอร์มาตามีสิ่งที่ธนาคารกรุงเทพต้องการ โดยเฉพาะความสามารถในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัล แบงกิ้ง (Digital Banking) ได้อย่างแข็งแกร่ง “เขาทำได้ดีกว่าแบงก์กรุงเทพ

“ระบบดิจิทัล แบงกิ้งของอินโดนีเซียก้าวไกลไปกว่าเรามาก และยังเป็นระบบเปิดที่พันธมิตรสามารถเชื่อมต่อระบบได้เลยเพื่อให้บริการลูกค้าร่วมกัน”

เพอร์มาตามีความคล่องตัวมาก หลังเปิด Permata MobileX แอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งไปได้แค่ 18 เดือน สามารถพัฒนาเวอร์ชันอัปเกรดออกมาได้แล้ว 18 เวอร์ชัน มีฟีเจอร์ทำงานมากกว่า 200 ฟีเจอร์ มียอดดาวน์โหลดแอปแล้วมากกว่า 1 ล้านราย

นอกจากนั้น พอร์ตลูกค้าของ 3 สาขาแบงก์กรุงเทพและเพอร์มาตาไม่ทับซ้อนกัน โดยลูกค้าหลักของเพอร์มาตาประกอบด้วย ลูกค้ารายย่อย เอสเอ็มอี และลูกค้าดิจิทัลแบงกิ้ง ขณะที่สาขาของธนาคารกรุงเทพในอินโดนีเซียมีลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก

“เพราะเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง เพอร์มาตาจึงต้องสร้างโอกาสในการแข่งขัน และสามารถหาจุดแข็งของตัวเอง พัฒนาดิจิทัลแบงกิ้งได้ดี จากเดิม 3 ปีก่อนฐานลูกค้ามี 1.5 ล้านราย แต่เมื่อพัฒนาระบบดิจิทัลได้แข็งแกร่ง ดึงลูกค้ารายย่อยเข้ามาได้มาก ทำให้ฐานลูกค้าขยับขึ้นเป็น 3.7 ล้านรายในปัจจุบัน”

เมื่อมีลูกค้ารายย่อยมากขึ้น ฐานเงินฝากออมทรัพย์-กระแสรายวัน ซึ่งมีต้นทุนถูก ก็ขยับเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสในการทำกำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ชาติศิริ ย้ำว่า ไม่คิดว่าราคาที่ใช้ซื้อเพอร์มาตาสูงเกินไป เพราะสิ่งที่ได้มา แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ และสามารถนำไปต่อยอดได้ทันที

ที่ได้มาทันทีคือสาขาในอินโดนีเซียทั้งสิ้น 330 สาขา มีพนักงาน 7,000 คน มีจำนวนลูกค้า 3.75 ล้านราย จากปัจจุบันธนาคารกรุงเทพ มีสาขาอยู่ 3 แห่ง มีพนักงาน 100 คน ธุรกิจมีความซ้ำซ้อนน้อยมาก

“และยังเป็นความบังเอิญที่โครงสร้างของธุรกิจของเพอร์มาตายังใกล้เคียงกับธนาคารกรุงเทพมาก เหมือนย่อส่วนธนาคารกรุงเทพลง 10% และยังมีการตั้งสำรองหนี้เสียในระดับสูงเหมือนกันด้วย”

มาถึงวันนี้ นอกจากจะใหญ่ที่สุดในไทยแล้ว ธนาคารกรุงเทพยังมีเป้าหมายที่จะขยับไปสู่การเป็นธนาคารชั้นนำในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง ตามที่ระบุไว้ในหนังสือของที่ปรึกษาการเงินอิสระว่า

“การเข้าซื้อกิจการของเพอร์มาตา ถือเป็นก้าวแรกของธนาคารกรุงเทพสู่การเป็นธนาคารระดับสากลอย่างแท้จริง ด้วยสาขามากกว่า 300 สาขาในอินโดนีเซีย โดยนอกจากช่วยกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจของธนาคารได้แล้ว ยังจะนำความเติบโตใหม่มาสู่ธนาคารกรุงเทพอีกด้วย”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ