"ชาติชาย" วางรากฐานออมสิน ธนาคารยั่งยืนช่วยเหลือสังคม

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ชาติชาย" วางรากฐานออมสิน ธนาคารยั่งยืนช่วยเหลือสังคม

Date Time: 17 ก.พ. 2563 06:01 น.

Summary

  • ธนาคารออมสินภายใต้บังเหงียนของ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ในฐานะผู้อำนวยการตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้ธนาคารออมสินผงาดขึ้นมาเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศ

Latest

SCB เดินหน้าดิจิทัลแบงก์ ปรับโครงสร้าง ใช้ AI ลดต้นทุน 30% ภายในปี 2569 พร้อมสู้ศึก Virtual Bank

ธนาคารออมสินภายใต้บังเหงียนของ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ในฐานะผู้อำนวยการตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้ธนาคารออมสินผงาดขึ้นมาเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศ แซงหน้าธนาคารพาณิชย์เอกชน จนสามารถลบคำสบประมาทว่าเป็นแค่ “ธนาคารเด็ก” ได้หมดสิ้น

ขณะที่ “ชาติชาย” ที่รับตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.2558 กำลังจะพ้นจากเก้าอี้ในวันที่ 15 มิ.ย.2563 ได้วางแผนให้ธนาคารแห่งนี้เป็นธนาคารอันดับหนึ่ง ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภารกิจใหญ่ของธนาคารออมสินที่รัฐบาลคาดหวัง คือ ธนาคารที่เป็นที่พึ่งของคนทุกระดับ ทั้งการออม การทำมาหากิน การทำธุรกิจ

และเป็นธนาคารที่เข้าไปพัฒนาอย่างเต็มตัวให้เศรษฐกิจรากหญ้าเข้มแข็งขึ้นมาได้จริงๆ

ดังนั้น การสรรหาผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ ที่หลายฝ่ายกำลังจับจ้องว่าจะเป็นใคร จำต้องเป็นคนที่สามารถทำตามโจทย์และเป็นกลไกของรัฐบาลได้อย่างดี

ขณะที่มุมมองของ “ชาติชาย” เห็นว่า ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ จะต้องมีความรู้ด้านแบงกิ้ง บิซิเนส (Banking Business) ทั้งระบบ เป็นคนที่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริง เข้ากับคนได้ง่าย ปรับตัวเองได้กับทุกสถานการณ์ มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

และก่อนที่จะก้าวลงจากตำแหน่ง “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ถึงการทำงานในช่วงโค้งสุดท้ายที่เหลือ และสิ่งที่ฝากเอาไว้จากวันนี้

ธนาคารเพื่อช่วยเหลือสังคม

“ผมวางแผนให้ธนาคารแห่งนี้เป็นธนาคารอันดับหนึ่ง ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดต่อไป โดยกำหนดยุทธศาสตร์ GSB SUSTAINABLE BANKING เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารอย่างยั่งยืน ไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนช่วยเหลือสังคมในทุกๆด้านไปพร้อมๆ กัน ภายใต้กลยุทธ์ 3 แบงก์ 1 ธนาคาร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

เขาบอกกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่าที่ผ่านมาธนาคารออมสินทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติไว้มาก ดังนั้น ธนาคารออมสินควรจะเป็นผู้นำที่มีความเข้มแข็ง หลังจากเติบโตขึ้นมามีเงินฝากและสินเชื่อเป็นอันดับหนึ่งของระบบธนาคารไทย

จึงอยากจะได้ผู้อำนวยการคนใหม่ที่มีความรู้และเข้าใจการทำงานของธนาคารเป็นอย่างดี เพื่อให้ธนาคารแห่งนี้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผมได้ปรับปรุงด้านโครงสร้างของธนาคารทั้งระบบ ปรับพฤติกรรมและทัศนคติของพนักงานใหม่ทั้งหมด ส่งคนไปฝึกอบรมงานด้านต่างๆ ปีละกว่า 30,000 คน”

นอกจากนี้ ได้ปรับโครงสร้างองค์กร การประชาสัมพันธ์ และภาพลักษณ์เก่าๆ ที่ถูกเรียกว่าธนาคารเด็ก เปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นธนาคารที่มีความทันสมัย มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ มากมาย เพื่อรองรับสังคมทุกระดับตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงานจนถึงวัยเกษียณ

ทำให้ธนาคารออมสิน ณ วันนี้ เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสินทรัพย์ ถึง 2.8 ล้านล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 2.15 ล้านล้านบาท

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงทำให้ธนาคารออมสินเป็นเหมือนธนาคารเชิงพาณิชย์ แต่เป็นเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะธนาคารไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพราะอีก 50% ที่เหลือ เราต้องเข้าไปดูแลประชาชน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายที่สุด”

ดิจิทัลแบงกิ้งแซงหน้า

ธนาคารออมสินได้วางยุทธศาสตร์ 3 แบงก์ ที่ตั้งอยู่ใน 1 ธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย แบงก์ที่ 1 คือ การทำธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) มีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและช่องทางต่างๆ ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

แบงก์ที่ 2 คือ เทรนดิชั่นนอล แบงกิ้ง (Traditional Banking) การลงทุนในการบริการเครื่องเอทีเอ็ม เพราะธนาคารยังมองเห็นความจำเป็นของการให้บริการเงินสดที่ยังต้องมีอยู่อย่างน้อยในอีก 5 ปี เพราะประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ได้อย่างเต็มรูปแบบ

และแบงก์ที่ 3 คือ โซเชียล ดีเวลอปเมนต์ แบงกิ้ง (Social Development Banking) หรือการดูแลและพัฒนาทางด้านสังคม เพื่อช่วยตอบโจทย์นโยบาย ต่างๆของรัฐบาลในการช่วยเหลือ ประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก

ที่สำคัญได้ดันบริการโมบาย แอปพลิเคชัน Mymo หรือ “มายโม” ของธนาคารออมสิน ให้แซงหน้าธนาคารเอกชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “แบงก์ที่หนึ่ง” คือการให้บริการดิจิทัลแบงกิ้ง

เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2558 จากจำนวนผู้ใช้งานเพียง 300,000 ราย ต่อมาปี 2559 ก็มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านราย ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านราย และปี 2562 มีผู้ใช้บริการมากถึง 7 ล้านราย

ถือเป็นหัวใจของธนาคารออมสินในการก้าวเดินไปข้างหน้าอีก 10-20 ปี

ในปีนี้ธนาคารออมสินตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผู้ใช้บริการอีกประมาณ 5 ล้านราย ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าใช้บริการ Mymo มากถึง 13 ล้านราย ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ธนาคารออมสินจะเป็นธนาคารที่มีลูกค้าที่ใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้งแซงหน้าธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง เพราะในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ที่บัญชีลูกค้ามากที่สุดมีเพียง 11-12 ล้านบัญชีเท่านั้น แต่ธนาคารออมสินมีลูกค้าที่เปิดบัญชีมากถึง 22 ล้านบัญชี

และยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารออมสินจะกลายเป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลแบงกิ้งมากที่สุดในประเทศไทย มีบริการตั้งแต่การโอนเงิน การเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็มโดยไม่ต้องใช้บัตร การตรวจสอบรายการบัญชีของลูกค้า (Statemen) ที่สามารถดูได้ย้อนหลังนานถึง 5 ปี รวมถึงการซื้อสลากออมทรัพย์ของธนาคารออมสิน กองทุนตราสารหนี้และกองทุนรวมได้อีกด้วย

อนาคตของ Mymo ได้วางแผนให้สามารถบริการด้านอื่นๆ ได้อีก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดอื่นๆ รวมถึงตั้งค่าการฝากเงินแบบอัตโนมัติ

วางกลยุทธ์เพิ่มรายได้

สำหรับ “แบงก์ที่ 2” คือ กิจการทางด้าน Traditional Banking เพราะมองว่าการถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ยังมีความจำเป็นกับสังคมไทย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกลและผู้สูงอายุ ในปีนี้จึงตั้งเป้าหมายเพิ่มเครื่องเอทีเอ็มให้ครบ 10,000 เครื่องทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีให้บริการอยู่แล้ว 8,000 เครื่อง

พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องเอทีเอ็มรุ่นใหม่ทดแทนเครื่องรุ่นเก่า 5,000 เครื่อง รวมเป็น 13,000 เครื่อง แต่ในจำนวนนี้ มีอยู่ประมาณ 3,000 เครื่องหมดอายุการใช้งานต้องปรับเปลี่ยนออกไป

“ที่ผ่านมา มีคนสงสัยว่า ทำไมธนาคารออมสินถึงจับมือกับธนาคารกสิกรไทย ให้บริการในรูปแบบเอทีเอ็ม ไวท์ เลเบล (ATM White Label) ซึ่งเป็นระบบเอทีเอ็มกลางที่รับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของทุกธนาคาร และให้ลูกค้าที่ถือบัตรของธนาคารกสิกรไทยสามารถกดเงินจากเครื่องเอทีเอ็มของออมสินได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม”

คนอาจมองว่าเราเสียเปรียบ แต่ในเชิงธุรกิจแล้วธนาคารออมสินคิดค่าธรรมเนียมจากธนาคารกสิกรไทย เพราะยิ่งมีลูกค้าที่ถือบัตรกสิกรไทยกดเงินจากเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารออมสินมากเท่าไหร่ ธนาคารออมสินก็ยิ่งได้เงินจากธนาคารกสิกรไทยมากขึ้น

ปัจจุบันธนาคารออมสินมีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มอยู่อันดับ 4 ของธนาคารทั้งหมด แต่บัตรเดบิตในระบบของธนาคารทั้งหมดมีกว่า 30 ล้านใบ ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์ลดจำนวนเครื่องเอทีเอ็มลงเพื่อประหยัดต้นทุน ลูกค้าของธนาคารอื่นก็จะมาใช้เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารออมสินมากขึ้น ก็จะมีรายได้จากธนาคารเจ้าของบัตรเพิ่มมากขึ้น

รูปแบบที่แบงก์พาณิชย์ไม่ทำ

ส่วน “แบงก์ที่ 3” ธนาคารออมสินให้บริการ คือ การพัฒนาทางด้านสังคม หรือโซเชียล ดีเวลอปเมนต์ แบงกิ้ง เป็นงานที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ทำ แต่ธนาคารออมสินมองว่างานด้านสังคมเป็นภารกิจหลัก และยังเป็นงานเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ปัญหาต่างๆ เช่น หนี้สินนอกระบบ การให้เงินกู้ฉุกเฉิน เป็นต้น

“หากมีคนถามผมว่า ธนาคารออมสินในยุคปัจจุบันให้บริการใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์แล้วหรือยัง ผมยืนยันว่า การบริการของเราแซงหน้าธนาคารพาณิชย์ไปนานแล้ว”

เพราะผลิตภัณฑ์และรูปแบบการบริการมีความหลากหลาย และตอบสนองลูกค้าตั้งแต่ลูกค้ารายใหญ่ เช่น รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ลูกค้าทั่วไป ลูกค้าเอสเอ็มอี สินเชื่อธุรกิจห้องแถว ไปจนถึงลูกค้าฐานรากเช่นที่มีการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน ให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วม เป็นต้น

“ผมเชื่อมั่นว่าธนาคารออมสินให้บริการด้านต่างๆ รวมแล้วมากกว่าธนาคารเอกชนถึง 50% สินเชื่อบางผลิตภัณฑ์มีความเสี่ยงสูง และกำไรน้อย แต่ธนาคารออมสินก็พร้อมให้บริการ”

ที่สำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินมีรูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากธนาคารพาณิชย์อย่างสิ้นเชิง เช่น ธนาคารพาณิชย์ลดจำนวนพนักงานและจำนวนสาขา ขณะที่ธนาคารออมสินไม่ลดปลดพนักงานและไม่ปิดสาขา

ในทางตรงกันข้าม ธนาคารออมสินเปิดสาขาเพิ่มในอำเภอที่ไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใดให้บริการ เพื่อตอบสนองนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้มีธนาคารบริการประชาชนครบทุกอำเภอในประเทศไทย

“ปีที่แล้ว ธนาคารออมสินเปิดสาขาอีก 8 อำเภอ ซึ่งในจำนวนนี้ มี 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีสถาบันการเงินเปิดให้บริการแม้แต่แห่งเดียว โดยธนาคารออมสินได้เปิดให้บริการอำเภอละ 1 สาขา ได้แก่ อำเภอกาบัง อำเภอกรงปินัง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อำเภอแม่ลาน อำเภอกะพ้อ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส”

********************

นายชาติชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารออมสินยังคงเป็นธนาคารต้นแบบของการปล่อยกู้ให้แก่ประชาชน เห็นได้จากการปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการธนาคารประชาชนฐานราก ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ขอให้ผู้กู้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง มีสถานที่ในการค้าขายชัดเจน จะเป็นพ่อค้า หรือแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย ก็สามารถกู้เงินได้

โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อเดือน หรือประมาณ 11-12% ต่อปี และล่าสุด ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเหลือ 0.75% ต่อเดือน แต่ในกรณีลูกหนี้เก่า ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีหากต้องการเงินกู้ก้อนใหม่ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 0.50% ต่อเดือน

ที่สุดแล้วสามารถช่วยคนให้ออกจากเงินกู้นอกระบบ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 10-20% ต่อเดือน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ