เงินบาทแข็งแก้ได้...ถ้าช่วยกัน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เงินบาทแข็งแก้ได้...ถ้าช่วยกัน

Date Time: 3 ก.พ. 2563 06:30 น.

Summary

  • เหตุการณ์เงินบาทแข็งตอนสิ้นปี 2562 เป็นเรื่องที่ใครๆก็พูดถึงรับปีใหม่ ฝั่งผู้เสียประโยชน์คงไม่ค่อยชอบ เช่น ธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยว แต่ฝั่งผู้ได้ประโยชน์คงชอบใจ

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เหตุการณ์เงินบาทแข็งตอนสิ้นปี 2562 เป็นเรื่องที่ใครๆก็พูดถึงรับปีใหม่ ฝั่งผู้เสียประโยชน์คงไม่ค่อยชอบ เช่น ธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยว แต่ฝั่งผู้ได้ประโยชน์คงชอบใจ เช่น ผู้นำเข้า ธุรกิจที่กู้ต่างประเทศ คนไทยเที่ยวเมืองนอก ส่วนฝั่งนักวิชาการก็มองต่างมุมในการเสนอทางแก้ วันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านทำความเข้าใจเรื่องค่าเงินบาทและชวนคิดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวได้สองทางไม่อ่อนไม่แข็งไปได้อย่างไร

อะไรทำให้เงินบาทแข็งมาหลายปี? เมื่อปลายปีที่แล้วผู้บริหารแบงก์ชาติชี้แจงว่า เงินบาทเริ่มแข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจ สะท้อนว่าประเทศไทยมีปัญหาอยู่ข้างใน เพราะสาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยในประเทศเอง คือ

(1) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง ที่ผ่านมาไทยเราส่งออกได้เยอะกว่านำเข้า รายได้เงินตราต่างประเทศจึงไหลเข้าเยอะกว่าที่จ่ายออกไป ทำให้คนเอาเงินตราต่างประเทศมาขอแลกเป็นเงินบาทเยอะ เงินบาทจึงแข็งค่าขึ้น เรื่องนี้อาจฟังดูดีถ้าไม่ใช่เพราะการนำเข้าน้อย โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนและเทคโนโลยีเพื่อผลิตหรือลงทุนต่อ

(2)กลไกการผ่องถ่ายรายได้เงินตราต่างประเทศที่เหลือใช้ออกไปหาประโยชน์ในต่างประเทศยังไม่ดี หลายประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงเหมือนไทย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ กลับไม่มีปัญหาค่าเงินแข็งให้กังวลมากนัก เพราะภาคธุรกิจ ภาครัฐ กองทุนเงินออมระยะยาว และประชาชนต้องการแลกเงินตราต่างประเทศส่วนเกินนี้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งการลงทุนผลิตสินค้าจ้างงานจริง และการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน

ด้านปัจจัยต่างประเทศ คือ กระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาซื้อหลักทรัพย์ไทยเป็นบางช่วงและการคาดการณ์เงินบาทแข็งค่าของนักเก็งกำไร อาจกดดันให้เงินบาทแข็งค่าได้ด้วย ขึ้นกับว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกน่าลงทุนกว่าหรือไม่ และนักลงทุนมองสินทรัพย์ไทยเป็นแหล่งพักเงินเพื่อหลบความเสี่ยงจากการลงทุนในโลกหรือไม่

หลายคนถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ดูแลให้เงินบาทอ่อนลงอีก? ข้อนี้ผู้บริหารของแบงก์ชาติชี้แจงว่า กังวลผลกระทบเงินบาทแข็งต่อเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศที่เหลือใช้ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมากเกือบครึ่งนึงของขนาดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงเกือบ 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วเอาไปสะสมเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง หลังๆเริ่มมีประเทศใหญ่คอยจับตาประเทศต่างๆ ที่เข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า ประกาศรายชื่อประเทศที่จะติดตามใกล้ชิด เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และสามารถตอบโต้ทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่กรณีได้ทุกรูปแบบ ธนาคารกลางส่วนใหญ่จึงดูแลค่าเงินเท่าที่จำเป็นไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไปจนระบบเศรษฐกิจปรับตัวตามไม่ทัน แต่ไม่ใช่ทำเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการค้าเป็นหลัก

แล้วจะแก้โจทย์นี้ได้อย่างไร? การที่แบงก์ชาติเป็นปราการด่านสุดท้ายเอาเงินบาทไปรับซื้อเงินตราต่างประเทศที่เหลือใช้จำนวนมากไว้ เป็นการแก้ที่ “ปลายเหตุ” และมีต้นทุนที่ต้องจัดการกับเงินบาทส่วนเกินที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ หากทุกฝ่ายช่วยกันแก้ที่ “ต้นเหตุ” จึงน่าจะเกิดประโยชน์โดยตรงและยั่งยืนกว่า ดังเช่น

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แก้โดยเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุนจากภาครัฐและเอกชน จะช่วยเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและปรับกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น กลไกการผ่องถ่ายเงินตราต่างประเทศส่วนเกินที่ยังไม่ดี แก้โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และให้สถาบันรับฝากเงินออมระยะยาว รวมถึงผู้ที่มีเงินออมกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น กระแสเงินร้อนเก็งกำไรจากต่างชาติและการคาดการณ์เงินบาทแข็งค่าทางเดียว แก้โดยธนาคารกลางติดตามใกล้ชิดและออกมาตรการจัดการได้เร็ว

หากทุกฝ่ายช่วยแก้ที่ต้นเหตุ จะช่วยยกศักยภาพของประเทศและช่วยให้กระแสเงินตราต่างประเทศไหลเข้าไหลออกสมดุลขึ้น เงินบาทจะไม่เคลื่อนไหวทางเดียว ไม่มีฝ่ายใดได้หรือเสียประโยชน์นานๆค่ะ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ