นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ธปท.ยังไม่ได้ยกเลิกมาตรการเพิ่มวงเงินดาวน์ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) เพราะยังเห็นความเสี่ยงในบางกรณี เช่น การกู้ซื้ออาคารชุดติดต่อกัน 2 สัญญาในเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งยังคงมีมาก และยังมีการเก็งกำไร ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.63 จึงได้ผ่อนคลายมาตรการแอลทีวีในบางส่วน มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.63 โดยเกณฑ์ที่ปรับเปลี่ยนมีดังนี้
1.การกู้ซื้อบ้านสัญญาแรก ธปท.ผ่อนคลายให้ผู้กู้รายเดิมกู้เพิ่มได้อีก 10% ของราคาบ้าน (หลักประกันเดิม) ในอัตราดอกเบี้ยเดียวกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่เป็นการแยกสัญญากู้ ซึ่งช่วยให้ผู้กู้มีบ้านพร้อมตกแต่งได้ในครั้งเดียว จากเดิมที่ให้กู้ได้เต็มหลักประกัน หรือ 100% อยู่แล้ว แต่ผู้กู้จำนวนมากต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือตกแต่งบ้าน จึงไปกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งดอกเบี้ยสูง 2.การกู้สัญญาที่ 2 ธปท.ผ่อนคลายเพิ่มเติม จากเดิมผู้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 1 ผ่อนชำระมาแล้วระยะหนึ่ง และจะกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ต้องผ่อนชำระสัญญาแรกครบ 3 ปีก่อนจึงจะกู้สัญญาที่ 2 โดยวางเงินดาวน์เพียง 10% นั้น ได้ปรับใหม่ โดยลดเวลาผ่อนชำระสัญญาแรกเหลือ 2 ปี รวมถึงให้เพิ่มวางดาวน์เป็น 20% สำหรับผู้ผ่อนบ้านหลังแรกไม่ถึง 2 ปีและต้องการกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 เพื่อป้องกันการกู้เพื่อเก็งกำไร
3.ผู้กู้สัญญาแรก สำหรับบ้านมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ธปท.ลดเงินดาวน์เหลือ 10% จากเดิมต้องวางดาวน์ 20% โดยปล่อยกู้ได้เพิ่มเป็น 90% ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่ง 10% ที่เพิ่มขึ้น ได้พิจารณาถึงความจำเป็นในการตกแต่ง หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ ยังปรับเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงของธนาคารพาณิชย์ กรณีสินเชื่อกู้ซื้อบ้านหลังแรกต่ำกว่า 10 ล้านบาท และกู้สร้างบ้านบนที่ดินปลอดภาระ จากเดิมดำรงเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 75% แต่ปรับใหม่เหลือ 35% “เดือน ม.ค.-พ.ย.62 สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ยังโตได้ 10.8% แม้จะใช้แอลทีวี โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบเติบโต 17.8% แต่แนวสูงลดลง 5% คาดว่าการผ่อนคลายแอลทีวีครั้งนี้จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 5% อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อบ้านยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือน พ.ย.62 อยู่ที่ 3.7%”.