ถึงกับช็อก เมื่อเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทส่งท้ายปี แน่นอนย่อมส่งผลกระทบหลายๆด้าน โดยเฉพาะการส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว แม้ขณะนี้คนทั่วไปไม่รู้สึกตัวเองได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่า แต่หากบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจะได้รับผลกระทบเป็นโดมิโนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจต้องมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก
"ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล" รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า "ค่าเงินบาทแข็งค่า" ได้ส่งผลทั้งในแง่บวกและลบ โดยส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทำให้ต้นทุนต่ำลง และทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายเที่ยวต่างประเทศในอัตราที่ต่ำลง และมีปัจจัยในการใช้สอยมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นจังหวะที่ดีสำหรับบริษัทใหญ่ในการลงทุนยังต่างประเทศ ทั้งโรงงานและการบริการ ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำลง
ส่วนผลกระทบด้านลบมีอย่างแน่นอนต่อการส่งออก ซึ่งจะลดลงโดยสิ่งที่ตามมาอาจมีการลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติมีสายการผลิตหลายแห่ง อาจย้ายการผลิตจากไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และสิ่งที่เห็นชัดเจนเมื่อค่าบาทแข็งค่าต่อเนื่อง อาจมีการเปลี่ยนคำสั่งซื้อจากไทยไปประเทศอื่น จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานด้านการผลิต อาจรุนแรงถึงขั้นเลิกจ้างงาน โดยเฉพาะบริษัทระดับโลกจะต้องลดต้นทุน ทำให้บริษัทรับจ้างผลิต อย่างชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูปต่างๆ ได้รับผลกระทบชัดเจน
ไม่เท่านั้นค่าบาทที่แข็งค่ายังกระทบธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของไทยอย่างชัดเจน เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าบริการที่แพงขึ้น ซึ่งยังมีทางเลือกอื่นเปลี่ยนการท่องเที่ยวไปประเทศลาวหรือเวียดนามแทน และสิ่งที่ตามมาทำให้บริษัทสายการบินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโรงแรม โฮสเทล ต่างได้รับผลกระทบ ส่วนร้านอาหารการกิน ร้านของฝาก และสินค้าโอทอป จะขายได้น้อยลง กระทบต่อเนื่องไปถึงการขนส่ง และอุตสาหกรรมมัคคุเทศก์
ขณะที่โรงพยาบาลจะเห็นชัดเจนมากขึ้น จากที่ไทยเป็น ”เมดิคอล ฮับ” มีชาวตะวันออกกลางนิยมมารักษาในไทย แต่ขณะนี้มีข่าวมาว่าเริ่มมีการเลื่อนนัดแพทย์ หรือมีการประหยัดมากขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลของไทยได้รับผลกระทบ ยังรวมไปถึงคลินิกทำฟัน ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีต่างชาติมาเข้ารับบริการ
เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าเหมือนตอกฝาโลง ทำให้อสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบ จากเดิมที่ต่างชาติ เช่น คนจีน เข้ามาซื้อเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย ต้องชะลอตัวลง ประกอบกับที่ผ่านมาทางแบงก์ชาติออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) และภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ โดยการชะลอซื้ออสังหาริมทรัพย์มีมากขึ้นและค่อนข้างรับผลกระทบหนัก เนื่องจากมีมูลค่าต่อหน่วยสูงถึง 30-50 ล้านบาท
"สิ่งที่ควรทำเมื่อค่าบาทแข็งตามกลไกตลาด เพราะเงินตราต่างประเทศเข้าไทยมาก ต้องหาวิธีเอาเงินออกนอกประเทศ โดยรัฐต้องสนับสนุนให้บริษัทใหญ่ๆ ลงทุนในต่างประเทศ ไปซื้อสินทรัพย์ นำเงินบาทไหลออกนอกประเทศ และแบงก์ชาติควรทบทวนการลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมแต่ละครั้ง เพราะไม่มีใครอยากเห็นบาทแข็งมากถึง 25 บาท ต้องลดดอกเบี้ยให้มากขึ้น แม้จะผิดสัญญากับภาคเศรษฐกิจโลกก็ตาม แต่ควรให้ประเทศไทยรอดพ้นไปให้ได้ คิดว่า กนง.ต้องคิดหนัก คาดว่าการประชุมนัดแรกของปีนี้ต้องลดดอกเบี้ย โดยค่อยๆลด เหมือนฉีดวัคซีน และอยากฝากนักธุรกิจ จะจัดการอย่างไรในการป้องกันความเสี่ยง"
นอกจากนี้การที่บางคนมองว่าค่าบาทที่แข็งค่า ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเอง แต่อยากเตือนว่าเมื่อภาคส่งออกหายไป จะกระทบทุกอย่างเหมือนห่วงโซ่ และท้ายสุดนักธุรกิจจะต้องลดต้นทุนลง จะทำให้คนตกงานมากขึ้น เพราะไม่คิดว่าค่าบาทจะแข็งต่อเนื่องได้ขนาดนี้ และจะเข้า "ทฤษฎีกบต้ม" หากธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบทั้งส่งออกและเครื่องจักร หมายความว่า วัตถุดิบต่างๆ ที่นำเข้าก็จะน้อยลงตามมา แม้ต้นทุนถูกลงก็ตาม เพราะเมื่อยอดคำสั่งซื้อลดลง จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบอีกต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจเผาจริงน่าจะมาเร็วขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์เอาไว้ประมาณกลางปี 63 ซึ่งน่ากลัวมาก.