นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของ 4 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 7 ม.ค.2563 โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2563 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.1% โดยรัฐบาลมีรายได้สุทธิ 2.777 ล้านล้านบาท และกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 523,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจปี 2564 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงระหว่าง 3.1-4.1% และอัตราเงินเฟ้อ 0.7-1.7%
“งบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 ยังคงเป็นนโยบายขาดดุลงบประมาณ โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม การลงทุนภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ มีการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม”
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยมีรายจ่ายอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท รายได้อยู่ที่ 2.731 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 469,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณ 2562 ขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า สมมติฐานทางเศรษฐกิจที่ใช้ในการจัดทำงบประมาณปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.1-4.1% สอดคล้องกับทิศทางการประเมินภาวะเศรษฐกิจโลก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้ดีขึ้น โดยกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้ในปี 2564 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องตามที่มีการประมาณการไว้.