เริ่ม 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ใครเป็นเจ้าของที่ดิน บ้านสิ่งปลูกสร้าง หรืออาคารชุด เตรียมเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ภายในเดือนเม.ย. ของทุกๆ ปี หลายคนอาจมองเป็นเรื่องซับซ้อน หรือเข้าใจยาก และสงสัยมีข้อยกเว้นใดบ้างที่ไม่ต้องเสียภาษี
ทาง “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” รวบรวมข้อมูลส่ิงควรรู้สำหรับผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายได้เตรียมตัว โดยพูดคุยในหัวข้อ “10 ข้อควรรู้เรื่องภาษีที่ดิน” กับผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ด้านกฎหมายภาษี หนึ่งในทีมผู้พัฒนา และ CEO iTAX
- 1.ภาษีที่ดินเป็นภาษีใหม่ของไทย จะเริ่มใช้ 1 ม.ค.ปีหน้า แบ่งเป็น 4 ประเภท 1.เกษตรกรรม 2.ที่อยู่อาศัย 3.พาณิชยกรรม และ 4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งที่ดินแต่ละประเภทมีการอัตราจัดเก็บภาษีไม่เท่ากัน โดยที่ดินเกษตรกรรรมอัตราถูกที่สุด ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าเก็บแพงสุด ทำให้คนเกิดความกังวล
- 2.การจัดเก็บภาษี คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด ตามการประเมินของกรมธนารักษ์ ไม่ได้พิจารณาจากราคาซื้อขาย คาดว่าราคาประเมินจะออกมาประมาณเดือนก.พ. 2563
- 3.ไทม์ไลน์อยู่ในช่วง 1-4 เดือน หากใครเป็นเจ้าของที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ต้องเสียภาษี หลังมีการประกาศราคาประเมิน โดยจะมีการส่งแบบประเมินให้มาเสียภาษีพร้อมกับอัตราภาษี ซึ่งต้องจ่ายภายในเดือนเม.ย.เท่านั้น
- 4.ข้อสงสัยของคนจำนวนมาก คิดว่ากรมสรรพากรมีหน้าที่จัดเก็บภาษีที่ดิน แต่ความจริงแล้วเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สำนักเขตของกทม.,เมืองพัทยา,เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อทดแทนการเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่ใช้มานาน
- 5.การจะทราบว่าต้องเสียภาษีที่ดินจำนวนเท่าใด กี่บาท ต้องรอการประกาศราคาประเมินประมาณเดือน ก.พ.2563 หากมีข้อข้องใจเรื่องอัตราภาษีที่ต้องจ่าย สามารถยื่นอุทธรณ์โต้แย้งได้
- 6.เมื่อทราบถึงอัตราภาษี จะนำไปสู่การวางแผนในการเสียภาษี หรือควรดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างกรณีที่ดินเกษตรกรรม มีอัตราถูกสุด ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า แพงสุด
- 7.ทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างบางอย่าง จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ยกตัวอย่างคอนโดฯ ห้องชุด กรณีมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ไม่ต้องเสียภาษี
- 8.การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น เพราะฉะนั้นบางคนคิดว่าจะซอยที่ดินออกมา แยกเป็นแปลงๆ ไม่ให้เป็นผืนเดียวติดกัน เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงนั้น ขอบอกไม่ได้
- 9.กรณีเป็นเจ้าของบ้านสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 1 แห่ง แน่นอนต้องเสียภาษีที่ดิน ยกเว้นบ้านหลังหลักราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นให้ย้ายบ้านที่แพงสุดเป็นบ้านหลังหลักของตัวเอง เพื่อการคำนวณภาษีบ้านหลังที่สอง ซึ่งอาจราคา 5 ล้าน จะถูกเก็บภาษีในราคาไม่แพง
- 10.สรุปแล้วภาษีที่ดิน ไม่ได้แพง เพราะมีการยกเว้นจัดเก็บภาษี ล่าสุดมติครม. 3 ธ.ค. 2563 ลดอัตราภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อไม่ให้เสียภาษีในอัตราที่สูงในช่วงแรก สมมติที่ดินสิ่งปลูกสร้าง 60 ล้านบาท เท่ากับต้องจ่าย 3 พันบาท หรือ 1 พันล้าน ต้องจ่าย 2 หมื่นบาท
“จริงๆ แล้วภาษีที่ดินไม่ได้โหดอย่างที่คิด จนจ่ายไม่ได้ กรณีบ้านหลังที่ 2 คอนโดหลังที่ 2 จ่ายเพียงอัตรา 0.02% ดังนั้นหากคอนโด 2 ล้าน ต้องจ่าย 400 บาท หรือ 5 ล้าน จ่ายเพียง 1 พันบาท และไม่ใช่ทุกคนจะโดนเก็บภาษีกันหมด หรือกรณีบ้านแพง สามารถผ่อนจ่ายภาษีได้นาน 3 เดือน หรือหากไม่พอใจสามารถอุทธรณ์ได้ ยกเว้นไม่ยอมจ่ายจะโดนเบี้ยปรับ 10-40% แล้วแต่กรณี รวมถึงโทษทางอาญา หากหลีกเลี่ยงเสียภาษี” ผศ.ดร.ยุทธนา กล่าว
ส่วนตัวมองว่าภาษีที่ดินไม่น่าจะลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเกิดความสงสัยว่าคนที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือคนที่มีที่ดินจำนวนมาก จะหาทางระบายที่ดินออกไป และชนชั้นกลางจะมีที่ดินในมือน้อยลง หากต้องจ่ายภาษีที่ดิน เพราะในที่สุดก็ต้องขาย มีบางคนกลัวจนยอมขายแบบลดราคา ส่วนพื้นที่ปั๊มน้ำมัน ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้น หากอยู่ใจกลางเมือง จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง และสุดท้ายเกรงว่าปั๊มน้ำมันจะย้ายไปอยู่นอกเมืองแทน
รวมถึงความกังวลด้านความพร้อมของหน่วยงานจัดเก็บภาษี ซึ่งอาจไม่เข้าใจ และในปีหน้าเกรงว่าภาษีที่ดินจะมีผลต่อสต๊อกอสังหาริมทรัพย์ที่รอการขาย ต้องรับภาระในการจ่ายภาษีที่ดินในที่สุด พร้อมกับตั้งข้อสังเกตอีกว่า ทำไมที่ดินเกษตรกรรมครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รู้สึกแปลกใจมากที่รวมนิติบุคคลไปด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีนิติบุคคลบริษัทดังๆ มีที่ดินจำนวนมาก ทำให้จ่ายภาษีได้ถูกมาก “ถามว่าใครได้ประโยชน์”.