ธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.
ในช่วงนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากหลายสำนักออกมาปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ รวมถึงแสดงมุมมองต่อเศรษฐกิจปีหน้าในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตาคือ ปริมาณหนี้สินทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และคาดว่าจะทำสถิติสูงสุดในช่วงสิ้นปีนี้ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้ จึงขอชวนท่านผู้อ่านทำความเข้าใจกับสถานการณ์ดังกล่าวค่ะ
สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance) หรือ IIF ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์หนี้ทั่วโลกฉบับล่าสุดในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ชี้ว่า ปริมาณหนี้สินทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เพิ่มสูงขึ้น 7.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ระดับหนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 250.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย IIF คาดการณ์ว่าจะแตะระดับ 255 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หรือคิดเป็นการก่อหนี้ต่อหัวประชากรที่ประมาณ 32,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจำนวนหนี้ที่อยู่ในระดับสูงนี้ ทำให้สัดส่วนหนี้มากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ถึงกว่า 3 เท่า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดของหนี้ที่เพิ่มขึ้นพบว่า มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินในสหรัฐฯและจีนเป็นสำคัญ โดยทั้งสองประเทศมีสัดส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 ของ หนี้ทั้งหมด ขณะที่หนี้สินของประเทศในตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging market (EMs) พุ่งแตะระดับสูงสุดเช่นกัน ที่ 71.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 220 ของ GDP ในกลุ่มประเทศ EMs นอกจากนี้ หากจำแนกตามประเภทของหนี้ทั้งหมด หนี้ของภาครัฐและหนี้ของภาคเอกชนที่ไม่รวมสถาบันการเงินยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 และร้อยละ 1 ตามลำดับ เร่งขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า
ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนการเร่งก่อหนี้เป็นผลมาจากการลดหรือการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางในหลายประเทศหลังวิกฤติซับไพรม์ ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมลดลงและส่งผลให้ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐกู้ยืมเงินมากขึ้น ทั้งนี้ หนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดย IIF ได้แสดงความกังวลถึงปัญหานี้โดยเฉพาะในส่วนของประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจเติบโตผ่านการกู้ยืมสกุลเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ตุรกี เม็กซิโก ชิลี ที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ได้หากเศรษฐกิจชะลอลงมาก
นอกจากนี้ ภายใต้ขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในหลายธนาคารกลางทั่วโลกที่มีจำกัด (limited policy space) ประเทศที่มีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว เช่น อิตาลี และเลบานอน รวมถึงประเทศที่ภาครัฐมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเร็ว อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล กรีซ อาจสามารถใช้เครื่องมือทางการคลังในการกระตุ้นหรือพยุงเศรษฐกิจได้อย่างจำกัด นอกจาก IIF แล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเคยเตือนว่า ปัญหาหนี้สะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้อาจจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่แสดงความกังวลถึงความเสี่ยงจากระดับหนี้ที่สูงมากในภาคธุรกิจ โดย IMF เตือนว่าหนี้ของภาคเอกชนในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน กว่าร้อยละ 40 หรือมูลค่าประมาณ 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เสี่ยงต่อการเกิดการผิดนัดชำระหนี้หากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางขาลง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงวิกฤติปี 2551-2552 เสียอีก
ปัญหาระดับหนี้สินในโลกที่มีปริมาณสูงเป็นประวัติการณ์นี้ นับเป็นปัญหาที่สำคัญและน่ากังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ (VUCA) ซึ่งหากนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้จะสร้างผลกระทบที่ตามมาอย่างมากต่อเศรษฐกิจ แล้วทิศทางระดับหนี้ทั่วโลกจะเป็นอย่างไรต่อไปในภาวะ low for long ของอัตราดอกเบี้ย? จะมีแนวทางแก้ไขหรือจัดการได้ทันกาลหรือไม่? คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดค่ะ
**บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**