หลังจากที่ “บิทคอยน์” (Bitcoin) สกุลเงินในรูปแบบดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) ระดับตำนาน เคยมีราคาหรือมูลค่าพุ่งไปแตะที่ 20,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 BTC ในช่วงปี 2560 ท่ามกลางการต่อต้านจากทางการแทบทุกประเทศ และข่าวคราวการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้ราคาร่วงรุนแรงแตะ 3,000 เหรียญต่อ BTC ในช่วงที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของคริปโตเคอเรนซี เหมือนถูกจำกัดอยู่ในคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
แต่เมื่อ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียชื่อดังของโลก ได้ร่วมกับพันธมิตร ประกาศจัดตั้ง สกุลเงินลิบรา (Libra) ซึ่งเป็นสกุลเงินของเฟซบุ๊ก ที่อ้างว่าสามารถใช้ทดแทนเงินในโลกจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดข้อจำกัดหลายประการที่ “เงินจริง” ทำไม่ได้ และยังทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ใช้ถูกลงอย่างมาก กระแสคริปโตเคอเรนซีได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา “ซัคเคอร์เบิร์ก” ได้เข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐอเมริกา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯไม่เห็นด้วยกับการออกสกุลเงิน Libra เนื่องจากกังวลว่า Libra อาจถูกใช้ในการฟอกเงิน และเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย
อย่างไรก็ดี “ซัคเคอร์เบิร์ก” กล่าวว่า “ลิบราจะทำให้สหรัฐฯเป็นผู้นำทางการเงิน และขณะที่เรากำลังถกเถียงกันในเรื่องนี้ ประเทศอื่นๆก็ไม่ได้หยุดรอเรา โดยจีนเตรียมออกสกุลเงินคริปโตฯในลักษณะเดียวกันในเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน”
ขณะที่ “เดวิด มาร์คัส” ผู้บริหารระดับสูงในโครงการลิบรา กล่าวว่า จีนกำลังพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างระบบการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ขณะที่สหรัฐฯพยายามหาวิธีการควบคุมเหรียญคริปโตฯของเฟซบุ๊ก เพราะกังวลว่าจะเป็นภัยคุกคาม แต่ความคืบหน้าของจีนในการพัฒนาสกุลเงินต่างหากที่จะเข้ามามีอิทธิพลและเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องจาก “แม็กซีน วอเตอร์ส” ประธานคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้ระงับโครงการดังกล่าว โดยต้องการให้เฟซบุ๊กแก้ไขจุดบกพร่องของสกุลเงินดังกล่าวก่อนที่จะเดินหน้าโครงการนี้
แต่คนในแวดวงคริปโตเคอเรนซีในต่างประเทศ มองว่า “สภาคองเกรสทำให้พวกเราเดินหน้าไปสู่อนาคตของคริปโตเคอเรนซีเร็วขึ้นอีกถึง 2-3 ปี และการพิจารณาเหรียญลิบราของสภาคองเกรส ทำให้ผู้คนตระหนักดีว่าพวกเขาไม่สามารถเพิกเฉยต่อคริปโตเคอเรนซีได้อีกต่อไป”
ขณะที่ฝั่งจีน ธนาคารกลางจีนได้ออกมาแสดงความมั่นใจว่าจีนจะเป็นธนาคารกลางแห่งแรก ที่เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ภายใต้ชื่อ Digital Currency Electronic Payment หรือ “DCEP”
“ฮวาง ฉีฟาน” รองประธานศูนย์แลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน ยืนยันระหว่างการประชุม “BUND SUMMIT” เมื่อวันที่ 27-29 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าธนาคารประชาชนจีน (PBoC) มีแผนที่จะเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลที่มีชื่อเรียกว่า DCEP
โดยเขากล่าวว่า PBoC ได้ดำเนินโครงการนี้มา 5-6 ปีแล้ว และหลังการเปิดตัว DCEP จะทำให้ PBoC กลายเป็นธนาคารกลางแห่งแรกของโลกที่เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง
ขณะที่แหล่งข่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของจีนรายหนึ่ง ระบุว่า หนึ่งในเป้าหมายของสกุลเงินดิจิทัลของจีนคือการสกัดลิบรา เพราะหากลิบรามีการใช้งานมากเท่าไหร่ จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินโลกมากเท่านั้น
ล่าสุด IBM และ The Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) ได้เปิดเผยผลสำรวจที่ศึกษาร่วมกัน ภายใต้หัวข้อ “Retail CBDCs, The Next Payments Frontier” โดยสำรวจความคิดเห็นจากธนาคารกลาง 23 ประเทศ ในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.62 ที่ผ่านมา พบว่าธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกกำลังพิจารณาอย่างจริงจังในการพัฒนาและออก “สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง” หรือ CBDC ในรูปแบบเงินดิจิทัลเพื่อใช้สำหรับรายย่อย (Retail CBDC) โดยโครงการแรกน่าจะเห็นภายในอีก 5 ปีในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กก่อน
CBDC ที่พร้อมใช้งานสำหรับผู้บริโภค มีแนวโน้มว่าจะใช้รูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนของการให้บริการทางการเงินที่ธนาคารกลางไม่สามารถทำได้ และจากการสำรวจพบว่า 73% ของธนาคารกลาง มีแนวโน้มจะกำหนดให้ Retail CBDC สามารถใช้งานได้ในทุกสถานการณ์รองรับการชำระเงินทุกประเภทเหมือนกับการใช้เงินสดในปัจจุบัน
“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองว่า คริปโตเคอเรนซี หรือที่บางคนเรียกว่า Digital Currency ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว และปัจจุบันได้มีสกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นมากกว่า 1,000 สกุลในตลาด
“คริปโตเคอเรนซี” ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่พลิกวิธีการและเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงิน ช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินดำเนินการได้รวดเร็ว สะดวก ไร้พรมแดน และมีต้นทุนที่ต่ำมาก ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง เช่น ธนาคาร หรือสำนักชำระบัญชีมาเกี่ยวข้อง เนื่องจากคริปโตเคอเรนซีเป็นสกุลเงินที่ไม่มีตัวตนทางกายภาพและถูกพัฒนาอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย”
แต่ไม่ใช่ทุกคริปโตเคอเรนซี จะได้รับการยอมรับจากนักลงทุนและผู้ใช้ ความน่าเชื่อถือหรือ creditability ของหน่วยงาน องค์กร สถาบัน หรือบริษัทเอกชน ที่เป็นผู้สร้างสกุลเงินดิจิทัล เป็นผู้กำหนดความสำเร็จและความนิยมด้วย
ทั้งนี้ จากหลักการแนวคิดเรื่องคริปโตเคอเรนซีเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่บางคนอาจรู้สึกว่าเรื่องนี้ฟังแล้วเข้าใจยาก “ผมจึงขออธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ ผมมองว่าคริปโตเคอเรนซีเป็นแนวคิดที่คล้ายกับ “ระบบโพยก๊วน” ที่มีประวัติยาวนานมากว่าร้อยปี ที่การส่งหรือโอนเงินจะทำผ่านการส่งโพย ที่เปรียบเสมือนตราสารทางการเงินข้ามน้ำข้ามทะเลไปให้ญาติหรือคู่ค้า เมื่อญาติได้รับโพยก็นำโพยไปขึ้นเงินที่ตัวแทน โดยระบบนี้เกิดขึ้นบนความเชื่อใจและเชื่อถือในเอกสารโพย ซึ่งปกติตัวกลางจะมีการกำหนดและทำสัญลักษณ์บนโพยเพื่อยืนยันความแท้จริงของเอกสาร”
แต่สิ่งที่ต่างกันคือ การโอนเงินเราเปลี่ยนจากโพยที่เป็นกระดาษมาเป็นเอกสาร digital และเปลี่ยนการจดโพยด้วยปากกาและประทับตราสัญลักษณ์เพื่อยืนยันความจริงแท้ของเอกสาร เป็นการใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูง น่าเชื่อถือในการยืนยันความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร ทำให้มั่นใจได้ว่าเอกสารจะไม่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเมื่อระบบมีความน่าเชื่อถือ จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลงในที่สุดแต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือสูง ออกมารับรองหรือประกัน ทำให้ยังมีความท้าทายมาก ในการที่จะได้รับการยอมรับในวงกว้าง ขณะที่ยังมีการนำไปใช้ในบางกิจกรรมที่ไม่ถูกกฎหมายด้วย
ส่วนการเกิดคริปโตเคอเรนซีในประเทศไทย ผมมีความเห็นว่าไทยเป็นประเทศเล็ก “คริปโตเคอเรนซี” ที่ออกโดยเอกชนไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่หากผู้ออกเป็นทางการ เช่น หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกสกุลเงิน Digital Thai Baht หรือกระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรดิจิทัล หรือ Scripless Bond บน Blockchain เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและได้การยอมรับในวงกว้างแน่นอน
โดยวัตถุประสงค์ของการใช้เป็น “เงิน” ยังดำรงอยู่เหมือนเดิม มีประสิทธิภาพของการเคลื่อนย้าย การเปลี่ยนมือ แลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์อื่นจะมีสูงกว่าเดิมมาก และมีต้นทุนในการบริหารจัดการที่ต่ำมาก หรือในอีกมุมอาจมองได้ว่า ถ้าเราสามารถสร้าง Digital Thai Baht เราจะลดความกังวลว่าจะมีเงินดิจิทัลสกุลอื่น เช่น ลิบรามาทดแทนเงินบาท แต่จะเป็นว่าเงินสกุลดิจิทัลอื่นจะต้องมาแลกเปลี่ยนกับดิจิทัลไทยบาทนี้แทน
สรุปคือประสิทธิภาพจะสูงขึ้นมาก ต้นทุนของระบบเศรษฐกิจไทยจะลดลงอย่างมหาศาล และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ตลอดทั้งห่วงโซ่การให้บริการ (value chain) ในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมากมาย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารกรุงไทย ยังไม่คิดออกคริปโตเคอเรนซีของเราเอง เพราะเราไม่เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพหรือศักยภาพเพียงพอที่จะได้รับการยอมรับหรือถูกนำมาใช้ในวงกว้าง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาออก Scripless debenture บนเทคโนโลยี Blockchain เมื่อระบบนิเวศตลาดทุนของไทยมีความพร้อม
ฝั่งมุมมองของ ธปท. นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ให้ความเห็นว่า ขณะนี้หลายบริษัททั้งในสหรัฐฯและจีน กำลังให้ความสนใจสร้าง “คริปโตเคอเรนซี” ของตัวเอง เพราะเห็นว่าการให้บริการทางการเงินดิจิทัลจะเป็นเทรนด์ของโลกในระยะต่อไป ซึ่งสกุลเงินที่เป็นคริปโตฯจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าเงินในโลกจริง
ทั้งนี้ การใช้บริการเงินดิจิทัลเป็นความนิยม เพราะคนทั่วไปเข้าถึงและใช้คริปโตเคอเรนซีได้ง่าย โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้การส่งมูลค่าจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงต้นทุนที่อาจต่ำกว่าระบบการโอนเงินในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม คริปโตเคอเรนซีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลเพื่อซื้อสินค้าและบริการนั้น ในทางกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เพราะไม่ได้มีองค์กรของรัฐใดรับรองให้มีการออกใช้ได้เป็นเงินตรา นอกจากนี้ คุณสมบัติของคริปโตเคอเรนซีบางประการยังไม่สามารถใช้แทนเงินได้ เช่น เรื่องการรักษามูลค่าและประสิทธิภาพในการรองรับธุรกรรมจำนวนมากๆ
นอกจากนั้น การใช้คริปโตเคอเรนซีอาจมีความเสี่ยงในเรื่องการถูกใช้เป็นช่องทางการฟอกเงิน การขาดกลไกการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค และการรักษาความปลอดภัยของระบบซื้อขายคริปโตเคอเรนซี ที่มักมีข่าวการถูกโจรกรรมอยู่บ่อยครั้ง
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งจึงมีการทดลองนำเทคโนโลยีของคริปโตเคอเรนซีมาพัฒนาและทดสอบธุรกรรมทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินในปัจจุบัน พร้อมกับการปิดความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นจากการใช้งานคริปโตเคอเรนซี โดยในส่วนของ ธปท.ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ พัฒนาโครงการอินทนนท์ เพื่อพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของ ธปท. แต่ยังเป็นการทดลองใช้ และดำเนินการระหว่างธนาคารเท่านั้น
“จันทวรรณ” กล่าวว่า “ปัจจุบันคริปโตเคอเรนซีถูกจัดอยู่ใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ซึ่งหากพัฒนาการของคริปโตเคอเรนซี มีการเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบของการใช้งานในอนาคต ธปท.และหน่วยงานการกำกับดูแลอื่นๆ ก็พร้อมร่วมหารือถึงแนวทางและขอบเขตการกำกับดูแลต่อไป”
ปัจจุบันหากสถาบันการเงินประสงค์จะออกคริปโตเคอเรนซีภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อพัฒนานวัตกรรมหรือเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ธปท.ให้ดำเนินการได้ แต่ต้องมาทดสอบในระบบทดลองเสมือนจริง Regulatory Sandbox ของ ธปท.ก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อมและสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีกระบวนการดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม
ขณะที่ “ปริย เตชะมวลไววิทย์” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ไม่ได้รับรองให้ คริปโตเคอเรนซี มีสถานะเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และปัจจุบันยังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางใดในโลก รับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากมีความผันผวนสูง ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมทั้งไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนที่จะนำคริปโตเคอเรนซีมาเป็นหน่วยวัดมูลค่าโดยตรง
ส่วนกรณีบริษัทในต่างประเทศสร้างคริปโตเคอเรนซีเป็นของตัวเองนั้น ก.ล.ต. มองว่าเป็นแนวทางการประกอบธุรกิจ หรือ business model ที่เติบโตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากคริปโตเคอเรนซี สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ ขณะที่การกำกับดูแลขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ โดยหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้ลงทุนและป้องกันการนำคริปโตเคอเรนซีไปใช้สนับสนุนธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย “เหรียญมีสองด้านเสมอ คริปโตเคอเรนซีแม้จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นสื่อกลางในการระดมทุน ในทางกลับกันก็มักมีการแอบอ้างสินทรัพย์ดิจิทัลหวังลวงให้หลงกลมิจฉาชีพ”
ทั้งนี้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ให้อำนาจ ก.ล.ต.กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในตลาดรอง ได้แก่ 1.ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) 2.นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) 3.ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด
ท้ายที่สุด ก.ล.ต.ขอย้ำเตือนประชาชนว่า “หากมีผู้ฉวยโอกาสแอบอ้างหรือชักชวนให้ไปลงทุนในโครงการลิบราโดยอ้างว่าเป็นโอกาสร่วมลงทุนกับเฟซบุ๊ก มีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าเป็นการหลอกลวง เนื่องจากลิบรายังไม่เปิดให้บริการจริงในปัจจุบัน และประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงการซื้อขายได้
รวมทั้งการหลอกลวงการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี สกุลอื่นๆด้วย หากจะลงทุนในคริปโตเคอเรนซี จะต้องมีความรู้ และการป้องกันความเสี่ยงที่ดี เพราะมีโอกาสถูกหลอกลวงได้ง่ายมาก.
ทีมเศรษฐกิจ