แบงก์กรุงเทพไม่เห็นด้วยโปรโมชันบัตรเครดิต 0% เร่งหนี้ครัวเรือน ยันแบงก์ไม่ได้อะไร แต่ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จ่อหารือชมรมบัตรเครดิตชี้แจงข้อเท็จจริง แต่หากแบงก์ชาติจะบังคับใช้ก็พร้อมปฏิบัติตาม ขณะที่แบงก์ชาติระบุยังเป็นการวางกรอบแนวทางปล่อยสินเชื่อ ขอความร่วมมือแต่ละแบงก์ดูแลลูกค้า
นายโชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ในงานเปิดบัตรเดบิต “บีเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท ไลน์ เพย์” ว่า ได้ร่วมกับแรบบิท-ไลน์ เพย์ ออกบัตรเดบิตใหม่ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน นิยมใช้จ่ายผ่านระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และมีรูปแบบบัตรให้เลือก 4 แบบ โดยตั้งเป้าภายใน 1 ปี มีผู้สมัครบัตรเดบิต 1.5 ล้านบัตร
โดยบัตรเดบิต “บีเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท ไลน์ เพย์”ทำให้การทำธุรกรรมการเงินสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งกดเงิน โอนเงิน ชำระค่าสินค้า และบริการได้ทั้งร้านค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ผ่านเครือข่าย Thai Payment Network (TPN) และ UnionPay ซึ่งสามารถผูกกับแรบบิท ไลน์ เพย์ เพื่อเป็นช่องทางการชำระเงินกับร้านค้าต่างๆ รวมทั้งชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเพียงแค่สแกนก็ผ่านประตูสถานีได้ทันที
นอกจากนั้น นายโชค ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความคิดเห็นว่า แคมเปญการผ่อนบัตรเครดิต 0% เป็นตัวเร่งทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ว่า กรณีนี้ตนไม่เห็นด้วยว่าแคมเปญ 0% จะเป็นตัวเร่งหนี้ครัวเรือน เนื่องจากมองว่าผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากแคมเปญดังกล่าวมากกว่า เพราะร้านค้าได้นำงบทางการตลาดมาใช้กระตุ้นยอดขาย และหากไม่ให้ใช้แคมเปญส่งผลให้ยอดใช้จ่ายลดลง นอกจากภาวะเศรษฐกิจยังเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ยอดใช้จ่ายชะลอตัวลง โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพเติบโต 10% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ปีนี้เติบโต 15%
“การออกแคมเปญ 0% ที่จริงแล้วผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่แบงก์ไม่ได้อะไร เพราะร้านค้าคือ คนที่นำงบการตลาดมาใช้ทำแคมเปญกระตุ้นยอดขายเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่หาก ธปท.เห็นต่างว่า 0% ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนก็พร้อมปฏิบัติตาม ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์จะมีการหารือกัน และชี้แจงผ่านชมรมบัตรเครดิต เพื่อเสนอไปยัง ธปท.ต่อไป”
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานได้สอบถามกรณีดังกล่าวไปฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย ธปท.ได้ชี้แจงว่า การออกแนวทางการให้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่ส่งเสริมการก่อหนี้ครัวเรือนนั้น ในขณะนี้ ธปท.ไม่ได้ระบุมาตรการว่าจะห้ามให้สินเชื่ออะไรเป็นพิเศษ เพราะแต่ละสถาบันการเงินมีการให้สินเชื่อที่แตกต่างกันไป โดย ธปท.ได้ให้กรอบกว้างๆ โดยขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินพิจารณาดูแลลูกค้าของตัวเอง
ขณะเดียวกัน เพื่อยกระดับความพร้อมรับมือภัยไซเบอร์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินมีเพิ่มขึ้นจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธปท.ออกกรอบการประเมินความพร้อมการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber Resilience Assessment Framework) เพื่อให้สถาบันการเงินทุกแห่งใช้เป็นการประเมินระดับความเสี่ยงตั้งต้นด้านไซเบอร์ และแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์และมาตรการควบคุมด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่พึงมีด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ธปท.ขอให้สถาบันการเงินประเมินความพร้อมในการรับมือภัยไซเบอร์ตามแนวทางดังกล่าวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีนัยสำคัญกระทบต่อความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ที่สถาบันการเงินเผชิญ พร้อมทั้งส่งผลประเมินให้ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.เป็นประจำทุกปี ภายใน 30 วันนับจากวันที่ 31 ธ.ค.ของทุกปี และเมื่อ ธปท.ร้องขอ โดยการประเมินจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ผ่านระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับสูง เพื่อให้จัดทำระบบติดตามและป้องกันภัยไซเบอร์ได้ตามความเสี่ยงของแต่ละสถาบันการเงิน.