"กระเป๋าเงินดิจิทัล" ภัยในโลกออนไลน์

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"กระเป๋าเงินดิจิทัล" ภัยในโลกออนไลน์

Date Time: 23 ส.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • การจับจ่ายทุกวันนี้นอก จากใช้เงินสดและบัตรเครดิต ยังมีอีกรูปแบบการใช้จ่ายที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital e-Wallet) ซึ่งเป็นตัวเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

การจับจ่ายทุกวันนี้นอก จากใช้เงินสดและบัตรเครดิต ยังมีอีกรูปแบบการใช้จ่ายที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital e-Wallet) ซึ่งเป็นตัวเข้ามาช่วยแก้ปัญหากรณีที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรเครดิตใช้

แม้ว่าที่ผ่านมา เราจะใช้เงินสดและบัตรเครดิตกันมายาวนาน แต่ทั้ง 2 ระบบนี้ ก็มีปัญหาที่ทำให้เกิดช่องว่างในการจับจ่าย

ปัญหาของเงินสด อยู่ที่ต้นทุนในการบริหารสูง เช่น ต้นทุนที่ใช้ในการขนส่งเงินไปธนาคารเพื่อใส่ตู้เอทีเอ็ม ต้นทุนในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งต้นทุนเหล่านี้แสดงออกมาในรูปของค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องจ่าย นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องติดตามที่มาของเงินยาก กลายเป็นที่มาของการฟอกเงิน

ส่วน บัตรเครดิต ปัญหาอยู่ที่ผู้จะสมัครบัตรเครดิตได้ ต้องมีหน้าที่การงานที่มั่นคงพอสมควรทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรเครดิตใช้ เทียบกับจำนวนประชากรไทยที่ 65 ล้านคน คนไทยมีบัตรเครดิตใช้เพียง 23 ล้านใบเท่านั้น

จากปัญหาที่เงินสดมีต้นทุนสูงในการบริหารจัดการ และบัตรเครดิตยังมีผู้ใช้น้อย ทำให้การค้าออนไลน์ทำได้ยาก ระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล จึงเข้ามาอุดช่องว่างในจุดนี้

การทำงานของกระเป๋าเงินดิจิทัลมีหลักการง่ายๆคือ การนำเงินสดไปเติม เพื่อเก็บไว้แบบดิจิทัลในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แล้วสามารถนำเงินดังกล่าวออกไปใช้จ่ายตามที่ต้องการ

บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่รู้จักกันดีในบ้านเรา ก็อย่างเช่น บริการของ True Money, AirPay หรือ Rabbit LINE Pay ที่ผู้ใช้บริการสามารถหักเงินจากบัญชีธนาคารของตน เพื่อนำไปเติมในกระเป๋าเงินดิจิทัล แล้วใช้เงินที่มีในกระเป๋านี้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ หรือซื้อสินค้าจากร้านที่ร่วมในระบบ

อย่างเช่นของค่าย True Money สามารถนำไปซื้อสินค้าใน 7-11 ได้ รวมถึงสั่งซื้อของทางออนไลน์ ในลักษณะของบัตรเครดิตเสมือนในร้านค้าที่รองรับ Mastercard ได้อีกด้วย

หรืออย่างบริการของค่าย Alipay ที่เป็นเจ้าตลาดในจีน สามารถใช้จ่ายได้ตั้งแต่ออนไลน์ ไปจนถึงร้านค้าริมทาง แค่กดมือถือ เปิด QR Code ให้ร้านค้าสแกน QR Code เพื่อส่งคำขอเรียกเก็บเงินมาให้ผู้ใช้ยืนยัน หรือผู้ใช้จะสแกน QR Code ของร้านค้า แล้วกดจ่ายมือถือก็ได้เช่นกัน ซึ่งคิดค่าบริการในอัตราที่ต่ำกว่าบัตรเครดิต และใช้จ่ายด้วยมูลค่าน้อยๆ เช่น จ่ายค่าอาหารจานละไม่ถึงหลักร้อยบาท ตามศูนย์อาหารก็ได้ เป็นต้น

ซึ่งล่าสุดกำลังมีความพยายามจะสร้าง Gateway หรือช่องทางการชำระเงินสำหรับบริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ Digital e-Wallet จากต่างค่ายสามารถใช้ Gateway เดียวกัน เพื่อให้ใช้จ่ายและชำระบริการได้มากขึ้น

แหล่งข่าวผู้หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่าย Mobile Banking ของธนาคารแห่งหนึ่ง เตือนว่า กระเป๋าเงินดิจิทัล และระบบการโอนเงินแบบโมบายแบงกิ้ง เป็นเทคโนโลยีที่ดีมีประโยชน์ ช่วยลดเวลา และขั้นตอนยุ่งยากในการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็มีจุดอ่อนเกิดขึ้นได้ หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง

เขายกตัวอย่าง กรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์ ที่มักจะเปิดเผยเลขบัญชีธนาคารของตน เพื่อให้ลูกค้าโอนเงินชำระ อาจถูกคนร้ายสวมรอยทำทีเป็นลูกค้ามาขอซื้อสินค้า ขอเลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนบุคคล แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปเปิดบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งค่าบัญชีให้เชื่อมกับบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย

จากนั้นผู้เสียหายจะได้รับการแจ้งเตือน ผ่านทางโทรศัพท์มือถือในทำนองว่า “คุณต้องการที่จะให้บัญชีธนาคารของคุณเชื่อมต่อกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่?” แต่การแจ้งเตือนนั้นมีข้อความที่ต้องอ่านค่อนข้างยาว ทำให้ผู้เสียหายหลายรายขี้เกียจอ่าน และคิดว่าไม่น่าจะเป็นอันตราย

เมื่อผู้ขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายกด “ยอมรับ” หรือ “ตกลง” บน Mobile Banking App การเชื่อมบัญชีระหว่าง Mobile Banking ของผู้เสียหายกับบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของคนร้ายก็จะสมบูรณ์ทันที ทำให้คนร้ายสามารถยักย้ายถ่ายโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ผ่านช่องทาง Mobile Banking ไปยังบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ของคนร้ายจนหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่นาที

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นคดีที่นำไปสู่การร้องเรียนกับทางตำรวจกองปราบฯมาแล้ว

แหล่งข่าวแนะนำว่า สิ่งที่ต้องเตือนสติตัวเองไว้เสมอ ก็คือ พยายามอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวในทุกรูปแบบกับใคร กรณีที่มีการแจ้งเตือนเข้ามาในโทรศัพท์ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ขอแนะนำว่า ให้ยอมเสียเวลาอ่านข้อความที่แจ้งเตือนมานั้นให้ละเอียด ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ ห้ามตอบตกลงใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่แน่ว่าการแตะหน้าจอเพียงครั้งเดียว อาจจะทำให้เงินของท่านถูกถอนออกจากบัญชีธนาคารจนเกลี้ยงภายในพริบตา

หรือแม้แต่กรณีของบิทคอยน์ bitcoin ซึ่งเป็นเหมือนเงินตราสกุลหนึ่งที่สามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนในโลกอินเตอร์เน็ตได้ (เอาไปซื้อของจริงๆก็ได้ แต่ยังมีร้านที่รับน้อย) ซึ่งไม่ได้ออกโดยรัฐบาลของประเทศใด และไม่มีศูนย์กลางควบคุม

ซึ่งมีบางคนเปรียบเปรยเอาไว้อย่างเห็นภาพว่า ไม่ต่างจากการหยิบขี้หมาขึ้นมาก้อนหนึ่ง แล้วบอกว่า 1 ก้อนขี้หมา=100 ดอลลาร์ฯ แต่ดันมีคนเห็นด้วย แถมคนที่เห็นด้วยมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นที่ยอมรับของคนในวงกว้าง จนสามารถนำก้อนขี้หมานั้นไปแลกสินค้าได้จริง

แหล่งข่าวบอกว่า ตรงนี้ก็ต้องระวัง เพราะสามารถโกงกันได้

“อะไรก็ตามเป็นที่นิยม ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้พวกแฮกเกอร์ทั้งหลาย เข้าไปประลองฝีมือ เพื่อจารกรรมข้อมูล หรือเงินในบัญชีบิทคอยน์ก็เช่นกัน พวกนี้จะใช้วิธีหา address ที่มีการซื้อขาย ซึ่งในบิทคอยน์ มักจะเปิดเผยอยู่แล้วว่า ใครโอนให้ใคร

จากนั้นจะทำบอท ไปรีเฟรชที่หน้าเว็บเรื่อยๆ ทุกครั้งที่รีเฟรช คนแฮ็กจะเก็บข้อมูลนี้มาไว้ใน db ของตัวเอง แล้วก็สุ่มเลือก address สักอัน ส่งคำสั่งว่าจะขอดูยอดเงิน หรือทดลองโอนเงิน เป็นคำสั่งที่ต้องใช้ private key ซึ่งเอาจากข้อมูลที่เก็บไว้นั่นแหละ ค่อยๆมาไล่ใส่ทีละอันจนกว่าจะได้ ซึ่งเคสนี้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ และทำได้สำเร็จมาแล้ว”

แหล่งข่าวบอกว่า ที่ผ่านมา AIS ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งรายใหญ่สุดของไทย ให้บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ ทั้ง Singtel Dash และ Rabbit LINE Pay ผ่านแอป AIS GLOBAL Pay ในร้านค้าของไทยและสิงคโปร์ ที่แสดงสัญลักษณ์ VIA และร้านในไทยที่มีสัญลักษณ์ Thai QR Code กว่า 1.6 ล้านแห่งไปแล้ว

เพื่อให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายในการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเชีย ยังจะมีการขยายไปยังพันธมิตรอื่น อย่างเช่น Airtel ในอินเดีย Globe ในฟิลิปปินส์ และ Telkomsel ในอินโดนีเซีย

แหล่งข่าวเตือนว่า พวกแฮกเกอร์มักจะไล่ทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ ดังนั้น นอกจากชื่อผู้ใช้ (User Name) รหัสผ่าน (Password) และข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ผู้ใช้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล ยังควรต้องตระหนักถึงการใช้อุปกรณ์ และแอปพลิเคชันต่างๆอย่างรอบคอบด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ