ธปท.หนุนใช้เงินท้องถิ่นค้าขาย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาของ ธปท.สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทว่า มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงและความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่กำหนดค่าเงินบาทมาจากต่างประเทศ เช่น ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกา หรือจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรืออียู ของสหราชอาณาจักร (Brexit) ดังนั้น ในอนาคตค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงไม่มีใครคาดเดาได้ จึงไม่อยากให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจในลักษณะที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยง
“ไม่อยากให้ผู้ประกอบการคาดเดาหรือเก็งกำไรค่าเงินบาท ดังที่ผู้ประกอบการบางท่านบอกว่าขอติดปลายนวมเล็กๆ น้อยๆ เพราะการทำธุรกิจดำเนินการมาด้วยความยากลำบาก จึงควรปิดความเสี่ยง โดยรวมค่าทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน โดยให้คิดส่วนนี้เป็นต้นทุนเหมือนต้นทุนปกติ เหมือนการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ต้องซื้อประกัน อัตราแลกเปลี่ยนก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นส่วนหนึ่งของการทำประกันตามปกติ”
นอกจากนั้น ในปัจจุบัน การส่งออกสินค้า 80% ยังกำหนดราคาขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ มีเพียง 10% การกำหนดราคาสินค้าส่งออก และค้าขายตรงในสกุลเงินของคู่ค้า (local currency) หรือในรูปเงินบาทแทนจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและลดต้นทุนได้ เช่น ส่งไปยุโรปทำไมไม่ใช้เงินยูโร ส่งไปญี่ปุ่นทำไมไม่ใช้เงินเยน โดยเฉพาะในขณะนี้เงินบาทกับเงินเยน ถือเป็นเงินปลอดภัยเหมือนกัน เมื่อค่าเงินเยนแข็งบาทก็แข็งซึ่งมีแนวโน้มไปทางเดียวกัน และลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงิน และสะดวกสำหรับคู่ค้าด้วย
“ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้ส่งออกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ของทั้งหมด และบางตลาดใช้มากกว่านั้น เช่นการส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลียใช้เงินบาทถึง 30% ซึ่ง ธปท.สนับสนุนให้ภาคธุรกิจทำเช่นนี้เพิ่มขึ้น”.