ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่ธนาคารเปิดรับลงทะเบียนให้กับลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ ที่ไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากร และพร้อมยอมถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งกำหนดให้มาลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 7-14 พ.ค.นี้นั้น นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการสอบถามสาขาของธนาคารกสิกรไทย จำนวนครึ่งหนึ่งของสาขาในกรุงเทพฯ มีลูกค้ามาลงทะเบียนน้อยมาก ส่วนที่ธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ ซอยนานา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันไม่มีลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ มาขอลงทะเบียนไม่ยินยอมส่งข้อมูลรายได้ดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากร ส่วนบรรยากาศตามสาขาของธนาคารกรุงไทย มีลูกค้าเข้ามาสอบถามข้อมูลเท่านั้น ยังไม่มีการลงทะเบียน ด้านธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มีลูกค้ามาลงทะเบียนน้อยมากเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์รวมกันทุกธนาคาร ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ต้องมีรายได้จากดอกเบี้ยออมทรัพย์เกินกว่า 20,000 บาทต่อปี หรือมีเงินฝากในบัญชีตลอดทั้งปีเกินกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมีอยู่ 4 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 1% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีอยู่ในระบบ 88 ล้านบัญชี อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ฝากเงินที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ ไม่มาลงทะเบียนไม่ยินยอมส่งข้อมูลรายได้ดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร
มีหลายสาเหตุ เช่น เมื่อลงทะเบียนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที ซึ่งตามปกติธนาคารกำหนดจ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์ 2 รอบ คือ รอบเดือน มิ.ย.และเดือน ธ.ค.ของทุกปี หากไม่ลงทะเบียนรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์งวดเดือน มิ.ย. เมื่อรวมกันทุกบัญชีทุกธนาคารไม่เกิน 20,000 บาท จะยังไม่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย แต่เมื่อนำรายได้เดือน มิ.ย.ไปรวมกับงวดเดือน ธ.ค.แล้วเกิน 20,000 บาท กรมสรรพากรจึงค่อยแจ้งมายังธนาคารให้หักภาษี ณ ที่จ่าย นอกจากนั้น สิ่งที่ผู้ฝากเงินกังวลคือหากลงทะเบียนไม่ยินยอม จะเป็นจุดดึงดูดความสนใจหรือถูกกรมสรรพากรจับตา เข้ามาตรวจสอบรายได้เป็นพิเศษ.