“ส้มตำ-ต้มยำ-ชามะนาว” ขอขึ้นราคาตาม 5 บาท ต่อเมนู พิษมะนาวลูกละ 15 บาท

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ส้มตำ-ต้มยำ-ชามะนาว” ขอขึ้นราคาตาม 5 บาท ต่อเมนู พิษมะนาวลูกละ 15 บาท

Date Time: 3 เม.ย. 2562 08:39 น.

Summary

  • มะนาวหน้าแล้งแพงจัด คาดสงกรานต์พุ่งลูกละ 15 บาท ส้มตำ–ต้มยำ–ชามะนาว จ่อขึ้นราคาเมนูละ 5–10 บาท บางรายประกาศงดขายชั่วคราว

Latest

แบงก์รัฐระดมช่วยคนน้ำท่วม พักต้น-ลดดอก-เลื่อนชำระหนี้

มะนาวหน้าแล้งแพงจัด คาดสงกรานต์พุ่งลูกละ 15 บาท ส้มตำ–ต้มยำ–ชามะนาว จ่อขึ้นราคาเมนูละ 5–10 บาท บางรายประกาศงดขายชั่วคราว ด้าน “พาณิชย์” มองบวกชี้เป็นโอกาสทองของชาวสวน ขอให้ชาวบ้านเข้าใจกลไกตลาด แต่หากพบผู้ค้าฉวยขึ้นราคาแพงเกินจริง ให้ร้องสายด่วน 1569 ยันจัดการขั้นเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ประชาชนเริ่มได้รับความเดือดร้อนจากราคามะนาวที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาขายปลีกมะนาวจัมโบ้บางตลาดลูกละ 8-10 บาท ขณะที่คาดว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้ๆ เทศกาลสงกรานต์ราคาอาจปรับไปอยู่ที่ลูกละ 12-15 บาท เพราะไทยเข้าสู่ฤดูร้อนและแห้งแล้งจนผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และเป็นมะนาวไม่มีน้ำ ส่งผลให้ผู้ค้าอาหารหลายประเภทที่ใช้มะนาวในการปรุง เตรียมปรับราคาอาหารอีกเมนูละ 5-10 บาท หรือติดป้ายประกาศงดจำหน่ายชั่วคราว เช่น ชามะนาว, ส้มตำ, ต้มยำกุ้ง รวมถึงร้านอาหารทะเลที่ใช้น้ำจิ้มซีฟู้ด

ขณะเดียวกัน จากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าน้ำผลไม้ พบว่า หลายรายปรับกลยุทธ์ในการจำหน่าย โดยบางรายจะติดประกาศงดจำหน่ายชามะนาว หรือน้ำดื่มที่ผสมมะนาวชั่วคราวจนกว่าราคามะนาวจะเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะไม่ต้องการปรับขึ้นราคาขายสินค้า ขณะที่หลายรายจะใช้วิธีขึ้นราคา 5 บาท หากลูกค้าต้องการมะนาว หรือผู้ค้าบางรายอาจนำน้ำมะนาวเทียมมาใช้ทดแทนมะนาวแท้

ทั้งนี้ ล่าสุดจากการประกาศราคาของกรมการค้าภายในเฉลี่ยในตลาดต่างๆ พบว่า ราคามะนาวแป้นเบอร์ 1-2 เฉลี่ยลูกละ 6-7 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนลูกละ 1.5-2 บาท ขณะที่มะนาวแป้นเบอร์ 3-4 ราคาเฉลี่ยลูกละ 4.5-5 บาท เพิ่มขึ้นลูกละ 1 บาท

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่า ภาวะภัยแล้งส่งผลทำให้สินค้าเกษตรหลายรายการ มีผลผลิตที่ลดลง และราคาปรับขึ้นสูง โดยเฉพาะมะนาว ซึ่งหากมองในมุมของเกษตรกรถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ชาวสวนมะนาวจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ และกรมคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่อาจจะเน้นการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง เช่น แหล่งผลิตในจังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร กระจายไปยังตลาดต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดแคลนมากนัก

“มะนาวในช่วงอื่นราคาจะตกต่ำมาก เช่น ลูกละ 1-2 บาท จนเกษตรกรแทบไม่มีกำไร ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงแล้ง ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจนราคาปรับเพิ่มขึ้น อยากให้ทุกฝ่ายเห็นใจชาวสวนด้วย เพราะราคาสูงแค่ปีละ 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการหรือชาวบ้านไม่สามารถรับภาระมะนาวที่ราคาสูงขึ้น ก็อาจหันไปใช้มะนาวสำเร็จรูป หรือส้มอย่างอื่นทดแทนชั่วคราวก่อนก็ได้ ซึ่งรสชาติไม่ต่างกันมากนัก”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอาหารอื่นๆที่ใช้มะนาวเป็นวัตถุดิบ หากผู้บริโภคพบเห็นผู้ค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าที่แพงเกินจริง สามารถร้องเรียนมายังกรมการค้าภายใน หรือโทร.สายด่วน 1569 จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบทันทีและหากพบว่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าที่เกินจริง จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ นายวิชัยยังเปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดปริมาณ 160,000 ตันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นการดึงน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบ เพื่อทำให้ราคาผลปาล์มสดปรับสูงขึ้นด้วยว่า ขณะนี้มีผู้เสนอขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับ กฟผ.ครบทั้ง 160,000 ตัน และทำสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว โดยล่าสุด กฟผ.ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้ว 60,000 ตัน คงเหลืออีก 100,000 ตัน ซึ่งจะต้องส่งมอบให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในเดือน เม.ย.-ก.ค.62 แต่ตนได้ขอความร่วมมือให้ส่งมอบให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เพื่อดึงผลผลิตออกจากระบบโดยเร็ว ไม่ให้หมุนเวียนในตลาด

“จำเป็นต้องดึงน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบโดยเร็ว เพื่อให้โรงงานสกัดเร่งรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรตามราคาเป้าหมายไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท ดันให้ราคาผลปาล์มสูงขึ้น และนำผลปาล์มมาบีบน้ำมัน และทำเป็นน้ำมันปาล์มดิบส่งมอบให้ กฟผ. โดย กฟผ.จะเร่งรัดจ่ายเงินให้โรงสกัดเร็วขึ้น และปรับเงื่อนไขการรับมอบ ไม่ต้องส่งมอบที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ให้ส่งมอบที่คลัง ที่ กฟผ.เช่าใน จ.สุราษฎร์ธานี และฉะเชิงเทราได้ โดยหากมอบได้ตามเวลาจะทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ จากปัจจุบันมีเกินปริมาณสำรองถึง 360,000 ตัน เข้าสู่ภาวะปกติ 200,000-250,000 ตัน ทำให้ราคาผลปาล์มสดที่เกษตรกรจะขายได้สูงขึ้น จากขณะนี้ได้ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ กก.ละ 2.40-2.60 บาท”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ