เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญา..พลิกโลก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญา..พลิกโลก

Date Time: 25 มี.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักคิดในการใช้ “ชีวิต” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้กับ “คนไทย”

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักคิดในการใช้ “ชีวิต” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้กับ “คนไทย”

หลักคิดนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกระดับ ทุกบทบาทในสังคม ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล คณะกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวไว้ว่า ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อมอบแนวทางแก้ปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “...การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตนเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง...”

การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระราชดำรัสเตือนพวกเรามาก่อนหน้านี้หลายครั้ง แต่พวกเรากลับไม่เข้าใจ จนกระทั่งปี 2540 พวกเราถึงเข้าใจในพระราชดำรัสเตือนของท่านอย่างลึกซึ้ง พระราชดำรัสของท่านเสมือน “เสียงระฆัง” ที่ปลุกสติคนไทยให้ตื่นขึ้น ทำให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นก้าวสำคัญของการแสวงหาแนวทางการสร้างความเจริญเติบโตอย่างสมดุลให้กับประเทศ

ความพอประมาณ (Moderation), ความมีเหตุมีผล (Reasonableness), ความมีภูมิคุ้มกันในตน (Prudence) คือกรอบสำคัญ แต่ที่อยากจะเน้นคือ...หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องประหยัด รัดเข็มขัดอยู่ตลอดเวลา แต่ที่จริงแล้วคุณสามารถซื้อสินค้าที่คุณชอบได้ตราบใดที่คุณมีรายได้สุทธิมากพอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องมีความพอประมาณไม่ใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะที่แท้จริง

แม้ว่าหลักปรัชญานี้จะมีต้นกำเนิดจากภาคเกษตร และภาคชนบท แต่หลักปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การค้าระหว่างประเทศ

อีกประเด็นที่น่าสนใจ...การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

“โลกในปัจจุบันระบบต่างๆมีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันมาก เราควรจะมองหาโอกาสและใช้ประโยชน์จากพัฒนาการนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเราเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของโลก เพราะรู้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้นแน่นอนว่า...โลกาภิวัตน์ เป็นความจริงของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และไม่มีประโยชน์ที่จะไปฝืน หรือทวนกระแส”

การสร้างความเข้มแข็งจากภายในจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่มาเยือนได้ทุกขณะเวลา บทเรียนอันเจ็บปวดจะไม่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตลอดไป

ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2562 ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เตรียมเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 หรือ 23rd ASEAN Finance Ministers’ Meeting (AFMM) และ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 หรือ 5th ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting (AFMGM) รวมถึงการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดเชียงราย

ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้เพื่อให้ทุกประเทศสมาชิก มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม มีความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือแนวทางความร่วมมือทางการเงิน ในการอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนการค้า...การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ในเวทีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนจะได้พบปะหารือกับผู้แทนสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจเอกชนกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มนักธุรกิจของอาเซียน, กลุ่มนักธุรกิจจากสหภาพยุโรป, กลุ่มนักธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา

“กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ เตรียมผลักดันให้ประเทศไทย ...ภูมิภาคอาเซียนสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยระบบศุลกากรดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาการบริการทางการเงินให้ทั่วถึงสำหรับประชาชนทุกกลุ่มรายได้ ประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น”

ระบบดิจิทัล เช่น การสนับสนุนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ผ่านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การเชื่อมโยงระบบ QR Code การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบพร้อมเพย์ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การโอน...รับเงิน ง่าย มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยสูง

นับรวมไปถึงสนับสนุนการใช้ “สกุลเงินท้องถิ่น” ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน

“การผลักดัน...ส่งเสริมระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้ทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการค้า...การลงทุนระหว่างกัน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมๆกันทั้งภูมิภาค ภายใต้การพัฒนา...ปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที”

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยเฉพาะที่เกิดจาก “สงครามการค้า” ระหว่างชาติมหาอำนาจ อย่างสหรัฐฯ...จีน สร้างผลสะเทือนไปแทบจะทุกภูมิภาค กลายเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้แล้วยังมีสิ่งท้าทายสำคัญก็คือการค้าในโลกยุคใหม่

“โลกดิจิทัล” รวมถึง “โลกของการเงินแห่งอนาคต” กับหลากหลายนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งให้เกิดความร่วมมือของอาเซียน ในการสร้างบทบาททางเศรษฐกิจ ในฐานะภูมิภาคที่กำลังก้าวเข้ามาความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการเปิดเสรีทางการเงิน การโยกย้ายเงินผ่านระบบดิจิทัล

นับเป็นอีกหนึ่งในการค้ายุคใหม่ของโลก ที่แต่ละประเทศต่างต้องเร่งปรับตัวเข้าหา เพื่อให้ทันกับยุคกับสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ปี 2561 จะเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมการเงินและธนาคารจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี บริการรูปแบบใหม่ๆผ่านแอปฯ การเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้าเข้ากับระบบเพื่อวิเคราะห์การนำเสนอผลิตภัณฑ์...บริการต่างๆที่ลูกค้าต้องการจริงๆ ไปจนถึงการใช้สมองกล AI ...เทคโนโลยี Blockchain

โลกการเงินจะพลิกโฉมเปลี่ยนไป “ผู้ใช้” สะดวกสบายมากขึ้นจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องเงินก็แค่หยิบสมาร์ทโฟน และในภาพใหญ่ “ภูมิภาคอาเซียน” ก็จะเป็นหนึ่งในภูมิภาคสำคัญ โดยเฉพาะอนาคตอันใกล้ที่จะเป็นทั้งตลาด...แหล่งทรัพยากร...แหล่งผลิต รวมถึงเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกเองอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งเรื่องความมั่นคง สงครามเศรษฐกิจ หรือการถดถอยในภาพรวม

เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เติมพลังแห่งความสามัคคีของภูมิภาค เตรียมรับมือกับสถานการณ์ความพลิกผันของ “เศรษฐกิจ” และสถานการณ์ “การค้า” ของโลกที่กำลังระอุร้อนรอวันปะทุ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ