"กรุงไทย" เปิดสงครามไอที

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"กรุงไทย" เปิดสงครามไอที

Date Time: 26 ก.พ. 2562 09:01 น.

Summary

  • นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมงบลงทุนด้านเทคโนโลยี (ไอที) ระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) จำนวน 19,000 ล้านบาท

Latest

วันหยุดปีใหม่ 2568 ธนาคาร เปิด-ปิดสาขา วันไหนบ้าง เช็กเลยที่นี่

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมงบลงทุนด้านเทคโนโลยี (ไอที) ระยะเวลา 5 ปี (2562-2566) จำนวน 19,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนไอทีปีนี้ 12,000 ล้านบาท และอีก 7,000 ล้านบาท เป็นงบลงทุนต่อเนื่อง เพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนมาใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น

ล่าสุดสาขาของธนาคารมีอยู่ 1,100 แห่งทั่วประเทศ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะลดเหลือ 1,000 แห่ง ซึ่งการตัดสินใจปิดสาขาต้องคิดรอบคอบ เนื่องจากปี 2559-2560 ได้ปิดสาขาไปแล้ว 100 แห่ง และพบว่าหลังปิดสาขา 3-6 เดือน ลูกค้าย้ายไปใช้บริการของธนาคารพาณิชย์คู่แข่ง เป็นเหตุผลให้ 2 ปีที่ผ่านมา จึงชะลอปิดสาขา แต่ธนาคารคู่แข่งก็ยังแย่งกันปิดสาขา ทำให้ลูกค้าย้ายมาใช้บริการของธนาคารกรุงไทย

“การปิดสาขาต้องมีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินได้ ดังนั้น ปีนี้ธนาคารจึงจะติดตั้งตู้เอทีเอ็มเพิ่มขึ้นอีก 3,000 เครื่อง นำไปติดตั้งทั่วประเทศ เนื่องจากตู้เอทีเอ็ม ให้บริการเหมือนกับสาขา ที่สามารถใช้บริการทางการเงินได้ตลอดเวลา”

ขณะเดียวกัน เรื่องพนักงาน ขอยืนยันว่าไม่มีการปลด แม้ว่าสาขาถูกปิด หรือควบรวม โดยปัจจุบันธนาคารมีพนักงานที่ประจำอยู่เครือข่ายสาขา 18,000 คน จากทั้งหมด 21,000 คน พนักงานที่สาขาถูกปิด หรือควบรวม จะนำมาแนะนำการใช้บริการ แอปพลิเคชัน KTB NEXT และตู้เอทีเอ็ม เพื่อไม่ให้ลูกค้าย้ายหนีไปใช้บริการของธนาคารคู่แข่ง ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีลูกค้า KTB NEXT จำนวน 4 ล้านราย สิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านราย และเมื่อบริการเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ เชื่อว่าพนักงานก็จะลดลง 30% จากทั้งหมด 21,000 คน และปกติในแต่ละปีมีพนักงานเกษียณ และธนาคารก็ได้เปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ทำให้จำนวนพนักงานลดลงอยู่แล้ว

“ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 5% จากปีก่อนเติบโต 4.4% โดยเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีเน้นกลุ่มที่มีอนาคต เช่นเกษตรแปรรูป ส่วนสินเชื่อภาครัฐ ตั้งเป้าลดสัดส่วนลง เนื่องจากมีต้นทุนการเงินสูงกว่าธนาคารรัฐ และสินเชื่อรายใหญ่ ตั้งเป้าเติบโตเล็กน้อย ส่วนสินเชื่อรถยนต์ มีแผนนำบริษัทลูกคือกรุงไทยลีสซิ่ง กลับมาให้บริการลูกค้าไตรมาส 2 โดยจะปล่อยกู้ซื้อรถจักรยานยนต์ และจำนำทะเบียนเท่านั้น และไม่เข้าไปแข่งขันในตลาด แต่เน้นให้บริการลูกค้าของธนาคารเท่านั้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ