ปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ รวมลูกค้านอน-แบงก์ ช่วยผ่อนน้อยแถมนาน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ รวมลูกค้านอน-แบงก์ ช่วยผ่อนน้อยแถมนาน

Date Time: 13 ก.พ. 2562 08:01 น.

Summary

  • ธปท.ขยายโครงการคลินิกแก้หนี้แก้กฎหมายให้นอน-แบงก์เข้าร่วมได้ ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลให้เข้าแก้หนี้ได้ถึง 1 ม.ค.62 ช่วยคนได้เพิ่ม 30% หวังลดภาระลูกหนี้ที่มีความตั้งใจจริง

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ธปท.ขยายโครงการคลินิกแก้หนี้แก้กฎหมายให้นอน-แบงก์เข้าร่วมได้ ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลให้เข้าแก้หนี้ได้ถึง 1 ม.ค.62 ช่วยคนได้เพิ่ม 30% หวังลดภาระลูกหนี้ที่มีความตั้งใจจริง ย้ำให้โอกาสผ่อนยาวสูงสุด 10 ปี ยอดหนี้ 100,000 บาท ผ่อน 1,167 บาทต่อเดือน ขณะที่ยอดหนี้ 50,000 บาทผ่อน 583 บาท

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับเจ้าหนี้หลายราย ให้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ไปพร้อมกันได้ จากปกติที่เจ้าหนี้แต่ละรายจะมีหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน และลูกหนี้จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายด้วยตนเอง

โดยโครงการในระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปีที่ผ่านมา และดำเนินการได้เฉพาะหนี้ของธนาคารพาณิชย์นั้น นับว่ามีความสำเร็จต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เริ่มโครงการ คลินิกแก้หนี้ได้ให้คำปรึกษาแนวทางแก้ไขหนี้แก่ลูกหนี้ 33,900 ราย และมีลูกหนี้ที่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จและลงนามสัญญาแล้ว 1,087 ราย

และต่อจากนี้คลินิกแก้หนี้ จะขยายเข้าสู่ระยะ 2 โดยขยายขอบเขตการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการ ให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอน-แบงก์) ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้กว้างขวางและเบ็ดเสร็จมากขึ้น เพราะหนี้ส่วนนี้มีสัดส่วนจำนวนลูกหนี้กว่า 70% ของทั้งหมด นอกจากนั้น จากข้อมูลลูกหนี้ที่ติดต่อกับโครงการ พบว่าเป็นลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้เป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือนอน-แบงก์รวมอยู่ในจำนวนสูงพอสมควร

โดยในเบื้องต้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการนอน-แบงก์อย่างน้อย 8 รายเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1. บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด 2. บริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด 4. บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด 5. บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด 6. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด 7. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)

โดยลูกหนี้ของ นอน-แบงก์จะสามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากต้องรอให้การแก้ไขกฎหมาย เพื่อขยายขอบเขตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถรับจ้างบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของนอน-แบงก์มีผลบังคับใช้ก่อน

นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตและมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหามากขึ้น จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมใน 2 ส่วนสำคัญคือ 1.คุณสมบัติการเข้าโครงการที่เดิมต้องเป็นเอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 เม.ย. 61 ปรับเป็นก่อนวันที่ 1 ม.ค.62 และ 2.ปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้ให้ยืดหยุ่น ง่าย และสอดคล้องกับสถานะลูกหนี้แต่ละรายมากขึ้น โดยเกณฑ์ใหม่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.62

“จุดเด่นของโครงการคลินิกแก้หนี้ นอกจากที่เป็นศูนย์ในการแก้ปัญหาหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายอย่างครบวงจรแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการให้โอกาสลูกหนี้ผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 10 ปี ทำให้ภาระที่ต้องจ่ายต่อเดือนไม่มากจนเกินที่จะรับได้ เช่น ลูกหนี้ที่มียอดหนี้ 100,000 บาท ผ่อนชำระขั้นต้นเพียง 1,167 บาทต่อเดือน ขณะที่ยอดหนี้ 50,000 บาท ผ่อนชำระเพียง 583 บาทต่อเดือนเท่านั้น โดยหากลูกหนี้ไม่ได้เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ จะต้องชำระหนี้ขั้นต่ำรายเดือนในอัตรา 10% ของยอดหนี้เงินต้น เช่น หากยอดหนี้ 100,000 บาท ต้องจ่าย 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการสอบถามลูกหนี้ที่ติดต่อได้เบื้องต้น พบว่ามีลูกหนี้อย่างน้อย 300-400 ราย ซึ่งเดิมปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จหรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ สามารถแก้หนี้ได้สำเร็จเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ใหม่หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบัน”

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการคลินิกแก้หนี้เมื่อปีที่ผ่านมา คลินิกแก้หนี้ได้ให้คำปรึกษาแนวทางแก้ไขหนี้แก่ลูกหนี้แล้ว 33,900 ราย (debt counselling) และมีลูกหนี้ที่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จและลงนามสัญญาแล้ว 1,087 ราย (debt restructuring)


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ