นักวิชาการจากจุฬาฯเผยงานวิจัย พบการใช้สิทธิประโยชน์แบบเดิม คนรวยได้ประโยชน์ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี LTF มากกว่าคนจนและคนรายได้ปานกลาง ซื้อเท่ากันได้ลดภาษีน้อยกว่า ขณะที่หากเปลี่ยนเป็นระบบเครดิตเงินคืน ช่วยเพิ่มประโยชน์ให้คนรายได้ปานกลาง–น้อยมากขึ้น แต่จะกระทบ RMF หนัก แนะรัฐวางกลยุทธ์จูงใจคนออมให้ชัด เพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษีจูงใจผู้มีรายได้น้อยออมเพื่อเกษียณ
นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยหัวข้อการเปลี่ยนนโยบาย LTF กระทบผู้เสียภาษีอย่างไร ซึ่งทำในโครงการ PIER Reserach Brief ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า จากการศึกษาข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2555 พบว่าบุคคลที่ซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดของประเทศ โดยซื้อในสัดส่วนประมาณ 30% ของผู้มีรายได้สูง ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งคิดเป็นกลุ่มคนประมาณ 80% ของคนทั้งประเทศซื้อน้อยกว่า 10% โดยกลุ่มนี้เฉลี่ยมากกว่า 50% ลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อประกันชีวิต
ขณะที่วงเงินใน LTF ที่คนนิยมซื้อมากที่สุดคือ วงเงินเกิน 100,000 บาทต่อปี มีสัดส่วน 38% ของจำนวน LTF ที่อยู่ในตลาด หรือมีผู้เสียภาษีที่ซื้อ LTF ในวงเงินเกิน 100,000 บาท มากถึง 73% ดังนั้น ผู้วิจัยพบว่า LTF มีความสำคัญน้อยมากสำหรับ 80% ของผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง โดยสัดส่วนการใช้ LTF ลดหย่อยภาษีมีเพียง 4% ต่ำกว่าประกันชีวิตที่มีสัดส่วนสูงถึง 95% ในขณะที่ LTF จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับ 20% บนของผู้เสียภาษีที่มีรายได้สูง โดยสัดส่วนของ LTF จะเพิ่มขึ้น เป็น 24% ของการลดหย่อนทั้งหมด
ทั้งนี้ สำหรับการตอบสิทธิ์ว่าลดหย่อนภาษี LTF ใครได้ประโยชน์ และการลดภาษีเป็นการสร้างแรงจูงใจสำหรับการ ซื้อ LTF ถูกที่หรือไม่นั้น จากผลการศึกษาพบว่า คนรวยได้ประโยชน์มากกว่าผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง เพราะเมื่อพิจารณาราคาหลังภาษี ซึ่งสะท้อนโดยสัดส่วนการประหยัดภาษีต่อมูลค่าการซื้อ LTF จะพบว่าคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อยได้รับการประหยัดภาษีในสัดส่วน 11.0% แต่ผู้มีรายได้สูงจะได้ในสัดส่วน 24.1%
ส่วนกรณีที่สิทธิ์ลดหย่อน ภาษี LTF กำลัง จะหมดอายุลงสิ้นปี 2562 นั้น ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ซื้ออย่างแน่นอน โดยเฉพาะการวิจัยพบว่าส่วน ลดภาษีจาก LTF คิดเป็นประมาณ 30-40% ของ ภาระภาษีโดยเฉลี่ยของผู้มีรายได้สูง ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้เครื่องมือการลดหย่อนภาษีตัวอื่น เช่น ประกันชีวิต หรือกองทุนรวมเพื่อ การเลี้ยงชีพ หรือ RMF แทน ขณะที่กรณีสุดท้าย หากมีนโยบายการเปลี่ยนรูปแบบการให้สิทธิ์ลดหย่อน LTF เป็นการเครดิตเงินคืนในสัดส่วน 20% ของจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน พบว่าในปี 2563 ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง จะมีภาระภาษีลดลงเฉลี่ย 27.9% ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% และการใช้ระบบเครดิตเงินคืนนี้อาจจะมีผลข้างเคียงต่อแรงจูงใจต่อการซื้อ RMF ของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากจะได้ ส่วนลดภาษีจาก RMF จะได้แค่ 5% ซึ่งต่ำกว่า LTF ที่จะเครดิตเงินคืนได้ 20% เป็นอย่างมาก ถือเป็นข้อพึงระวังที่สำคัญสำหรับผู้วางนโยบาย เนื่อง จาก RMF เป็นเครื่องมือการส่งเสริมการออมและลงทุนสำหรับการเกษียณอายุโดยตรง
“รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมการออมให้ชัดเจน หากเน้นการออมเพื่อการเกษียณอายุ ก็จะต้องออกแบบสิทธิประโยชน์ภาษีให้เหมาะสมกับการออมระยะยาว และหากต้องการเน้นให้คนมีรายได้น้อยถึงปานกลางเข้ามาออมจะต้องกำหนดสิทธิประโยชน์ให้มีแรงจูงใจกับผู้มีรายได้มากขึ้น”.