น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ย. เท่ากับ 102.40 สูงขึ้น 0.94% เทียบกับเดือน พ.ย.2560 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 17 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ลดลง 0.22% ขณะที่เฉลี่ย 11 เดือนแรกปีนี้สูงขึ้น 1.13% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
“เงินเฟ้อที่สูงขึ้น 0.94% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.04% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น อาทิ อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 2.11% ไข่และผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 1.07% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.66% ส่วนหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 0.87% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมัน เพิ่ม 4.78% หากแยกรายการสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีราคาสูงขึ้น 222 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า เพิ่ม 6.86% นมผง เพิ่ม 3.34% กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพิ่ม 9.59% ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 1.67% อาหารเช้า เพิ่ม 3.34% ข้าวราดแกง เพิ่ม 1.88% อาหารตามสั่ง เพิ่ม 1.67% ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 117 รายการ สินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 83 รายการ”
“เงินเฟ้อเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลง ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่มาจากราคาน้ำมันเดือน พ.ย.ปรับตัวลดลงมามาก ซึ่งน้ำมันมีผลต่อการคำนวณเงินเฟ้อ 8.03% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มไม่มาก เชื่อว่าเงินเฟ้อปีนี้ จะขยายตัว 1.12% หรืออย่างน้อยขยายตัวได้ 1.1% ขึ้นไป หรือขยายตัวสูงสุดรอบ 4 ปี นับจากปี 2557 ที่ขยายตัว 1.89% หากอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.นี้ ขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือน พ.ย. ซึ่งก็สอดคล้องกับการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ และเงินเฟ้อในปีหน้า คาดว่าขยายตัว 0.7-1.7%”.