นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงินสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. ...ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างชัดเจน โดยแบ่งกิจการที่ต้องกำกับดูแลออกเป็น 5 ประเภท ใน 2กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินให้สินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อที่มีการรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นประกันการชำระหนี้ (สินเชื่อทะเบียนรถ) โดยจะต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และ 2.กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ได้แก่ การให้เช่าซื้อการให้เช่าแบบลีสซิ่งและการซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า (แฟคตอริ่ง) โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนในการประกอบธุรกิจกับสำนักงาน
“ปัจจุบันนอนแบงก์มีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเช่าซื้อ 500,000 ล้านบาท ลีสซิ่ง 270,000 ล้านบาท แฟคตอริ่ง 67,000 ล้านบาท จำนำทะเบียนรถ 200,000 ล้านบาท และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ 330 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มี พ.ร.บ.รองรับ ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ในการคิดอัตราดอกเบี้ย การคิดค่าธรรมเนียมที่แพงเกินจริง และการติดตามทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม”
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมากำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร จะมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อวางนโยบายส่งเสริมและกำกับดูแล เพื่อให้การให้บริการสินเชื่อประเภทนี้มีความเป็นธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดช่องให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้มากขึ้นจากปัจจุบัน เช่น สินเชื่อเงินติดล้อ หรือคาร์ฟอร์แคช ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 15% ต่อไปอาจให้คิดดอกเบี้ยได้สูงขึ้น เพื่อจะได้ไม่ไปซ่อนค่าธรรมเนียมในที่ต่างๆ เหมือนเช่นพิโกไฟแนนซ์ ที่คิดดอกเบี้ยสูงสุด 36% อย่างไรก็ตาม เรื่องของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกทีว่าต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการรับจำนองหรือไม่.