แก้ปมอินเตอร์เน็ตแบงก์ล่ม ธปท.เพิ่มวงเงินโอนครั้งละ 6.99 แสนบาท

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แก้ปมอินเตอร์เน็ตแบงก์ล่ม ธปท.เพิ่มวงเงินโอนครั้งละ 6.99 แสนบาท

Date Time: 27 ก.ย. 2561 10:30 น.

Summary

  • ดีเดย์ วันที่ 1 ต.ค.นี้ ขยายการโอนเงินอินเตอร์เน็ตจาก 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 699,999 บาทต่อครั้ง ล้อมคอกระบบโอนเงินล่มช่วงสิ้นเดือน จี้แบงก์ขยายถนนรองรับธุรกรรมโอนเงินออนไลน์เพิ่มขึ้น

Latest

เคล็ดลับจัดการเงินคนเจน Z

ธปท.ดีเดย์ วันที่ 1 ต.ค.นี้ ขยายการโอนเงินอินเตอร์เน็ตจาก 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 699,999 บาทต่อครั้ง ล้อมคอกระบบโอนเงินล่มช่วงสิ้นเดือน จี้แบงก์ขยายถนนรองรับธุรกรรมโอนเงินออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า พร้อมเล็งเปิดธุรกิจตัวกลางปล่อยสินเชื่อรายย่อย หรือ P2P Lending Platform สิ้นปีนี้

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ธปท.ได้ขยายวงเงินของการให้ชำระเงินและโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และอินเตอร์เน็ต ในการโอนหรือชำระเงินผ่านเลขบัญชีทั้งในธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร ซึ่งเดิมธนาคารพาณิชย์ได้กำหนดวงเงินสูงสุดในการโอนเงินผ่านเลขที่บัญชีไว้ที่ 50,000 บาทต่อครั้ง แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าปริมาณการทำธุรกรรมสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกของประชาชน จึงได้หารือกับสมาคมธนาคารไทยขยายวงเงินการโอนเป็นไม่เกิน 699,999 บาทต่อครั้ง อย่างไรก็ตาม แต่ละธนาคารอาจจะกำหนดวงเงินที่โอนได้สูงสุดแตกต่างกัน ซึ่งธนาคารจะประกาศให้ประชาชนทราบภายในเดือน ต.ค.นี้

“การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ทั้งโอนผ่านหมายเลขโทรศัพท์ กับบัตรประชาชนวงเงินที่โอนได้สูงสุดอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่โอนผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งหรือโมบายแบงก์กิ้งธนาคาร โอนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง ขณะที่พบว่า ในช่วงสิ้นเดือนที่มีเหตุการณ์ระบบของสถาบันการเงินล่มนั้น เป็นวันที่มีธุรกรรมสูงกว่าช่วงวันปกติ ซึ่งเดิมคนที่ต้องการโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทจะต้องโอนเงินหลายครั้ง แต่เมื่อเพิ่มวงเงินโอนได้เป็น 699,999 บาทต่อครั้ง จำนวนรายการการโอนก็จะลดลง ช่วยลดความแออัดของธุรกรรมได้อีกทางหนึ่ง”

นางสาวสิริธิดา กล่าวด้วยว่า เพื่อลดโอกาสของการล่มของระบบการโอนเงินออนไลน์ในช่วงสิ้นเดือนลง ธปท.ยังได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ ITMX เพื่อขยายช่องในการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งเพื่อเพิ่มขนาดของถนนและลดปัญหาคอขวดในการส่งรายการการทำธุรกรรม โดยกำหนดให้ภายในสิ้นปีนี้ ควรขยายให้สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้น 2 เท่า รวมถึงวางแนวทางการติดตามปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การมีระบบ Dash board ที่สามารถติดตามการทำงานของระบบในภาพรวมได้ในทีเดียว ให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที

ขณะที่นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ ธปท.จะออกหลักเกณฑ์และใบอนุญาตประกอบการธุรกิจการเป็นตัวกลางในการทำสัญญาให้ยืมเงิน ผ่านระบบกลางหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending Platform) ซึ่งจะเป็นขยายช่องทางให้แก่ประชาชนรายย่อยที่ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น นอกเหนือจากการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการให้บริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ร่วมกับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้การออกเกณฑ์ทั้งในส่วนของการให้กู้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจดังกล่าวจะต้องนำเทคโนโลยีและระบบบริหารความเสี่ยงของระบบเข้ามาทดสอบในระบบการเงินจำลอง (Regulatory Sandbox) ของ ธปท.ก่อนให้บริการจริง และเมื่อพร้อมให้บริการในวงกว้างแล้ว ธปท.จะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาต ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ต่อไป ขณะที่คุณสมบัติเบื้องต้นผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นบริษัท หรือบริษัทมหาชน จำกัด ที่เป็นบริษัทคนไทย โดยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 75% และต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำคงไว้ที่ 5 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเดือน ส.ค.ว่า สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.2561มีนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 386 ราย ใน 64 จังหวัด ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการแล้ว 310 ราย ใน 63 จังหวัด และมีผู้ประกอบการปล่อยสินเชื่อแล้ว 287 รายใน 60 จังหวัด โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 30,340 บัญชี รวมเป็นเงิน 785 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 25,888 บาทต่อบัญชี ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินตั้งแต่เดือน มี.ค.2560 ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรวม 319,750 ราย เป็นเงิน 14,340 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ