นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 62 ตั้งเป้าหมายชำระหนี้เงินกู้ไว้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีการชำระคืนมา 26,000 ล้านบาท โดยปีงบหน้าคาดว่ายอดชำระเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการหักเงินเดือนผู้กู้เป็นรายเดือนอย่างจริงจัง จากปีนี้นำร่องกับข้าราชการกรมบัญชีกลางไปแล้ว เตรียมขยายไปสู่ข้าราชการทั่วประเทศในช่วงสิ้นปีนี้ รวมถึงหารือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในการหักเงินเดือนพนักงานเพื่อชำระหนี้คืนในช่วงต้นปี 62 คาดว่าจะมีประมาณ 200,000 บัญชีที่ กยศ.หักจากบัญชีได้โดยตรง
“กฎหมายใหม่ของ กยศ.นายจ้างต้องหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ให้ กยศ. โดยประเมินภายใน 2 ปีนี้จะมีลูกหนี้ที่ถูกหักเงินจากเงินเดือนโดยตรงประมาณ 1 ล้านราย จากองค์กรนายจ้าง 100,000 แห่ง”
ทั้งนี้ ในปีงบ 2562 ตั้งงบให้กู้ 30,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้รายเก่าและรายใหม่ 600,000 คน ขณะที่มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ. 3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ผิดนัดชำระและเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง 1 ล้านคน วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจากข่าวครูวิภาค้ำประกันให้นักเรียนจนเกือบถูกยึดบ้าน ทำให้ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันตื่นตัวใช้หนี้คืน กยศ.มากขึ้น โดยมีโทรศัพท์สอบถามสถานะหนี้จากเดิมเดือนละ 50,000 ราย เป็น 200,000 ราย และมีผู้ที่เข้ามาติดต่อสำนักงาน กยศ.เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว โดย กยศ.กำลังทบทวนข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับผู้ค้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างครูวิภาอีก
นายชัยณรงค์ กล่าวต่อถึงกรณีประชาชน จ.อุบลราชธานี ที่ระบุว่าไม่ได้กู้ แต่มีหมายศาลเรียกไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ.อยู่ระหว่างตรวจเอกสารการกู้ และดูว่าลายเซ็นเป็นของจริงหรือไม่ หรือมีการแอบอ้างหรือปลอมแปลงจะดำเนินคดีตามกฎหมาย.