งง! พ.ร.บ.เก็บแวตซื้อขายออนไลน์

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

งง! พ.ร.บ.เก็บแวตซื้อขายออนไลน์

Date Time: 18 ก.ค. 2561 08:45 น.

Summary

  • ครม.เคาะร่าง พ.ร.บ.ภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หวังเรียกเก็บแวตจากผู้ประกอบการขายของและแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ส่งสินค้าทางออนไลน์มาขายให้คนไทย

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

รัฐผ่านกฎ “เสือกระดาษ” บังคับเว็บต่างชาติไม่ได้

ครม.เคาะร่าง พ.ร.บ.ภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หวังเรียกเก็บแวตจากผู้ประกอบการขายของและแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ส่งสินค้าทางออนไลน์มาขายให้คนไทย ด้าน “อภิศักดิ์” ยอมรับยังมีปัญหาทางเทคนิค ยังมีช่องโหว่ในทางปฏิบัติไม่รู้จะบังคับอย่างไรให้เสียภาษีได้จริง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญ คือ การวางหลักเกณฑ์จัดเก็บแวตจากผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศ ทั้งผู้ที่จำหน่ายสินค้าและผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือตัวกลางที่เป็นช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กูเกิล หรืออเมซอน เป็นต้น เพื่อให้การจัดเก็บแวตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ กฎหมายในปัจจุบันได้กำหนดไว้ว่า คนที่ซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศจะต้องไปแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อแสดงตนว่าจะเอาสินค้ามาจ่ายแวต แต่ในทางปฏิบัติไม่มีใครที่จะไปแจ้งเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า ซื้อของจากต่างประเทศมาเพื่อจ่ายแวต ขณะที่ตัวบริษัทที่จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการแพลตฟอร์มในต่างประเทศก็ไม่เสียแวตเพราะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย จึงออก พ.ร.บ.มากำหนดให้บริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และต้องมาตั้งบริษัทตัวแทนในประเทศไทยเพื่อจ่ายแวต

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ออกมาเพื่อเป็นหลัก การก่อน แม้ว่าในรายละเอียดการปฏิบัติอาจมีปัญหาทางเทคนิคอยู่บ้างเพื่อให้มีโอกาสพัฒนาต่อไปในอนาคต โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ชี้แจงใน ครม.ว่า ถึงแม้จะมีกฎหมายออกมาให้บริษัทต่างประเทศจดทะเบียนแวตและตั้งบริษัทตัวแทนในไทย แต่จะบังคับให้บริษัทมาดำเนินการดังกล่าวได้ค่อนข้างยาก และจะไปปรับหรือลงโทษหากไม่จดทะเบียนแวตก็ไม่ได้เพราะอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งทุกประเทศได้เกิดปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน และถ้าจะกำหนดให้ผู้ซื้อของที่อยู่ในประเทศไทย ที่ซื้อของจากต่างประเทศระบบออนไลน์ไม่สามารถเอาวงเงินที่ซื้อมาหักภาษีได้ แต่ก็ยังมีผลกระทบตามมา เช่น บริษัทผู้ขายอาจจะเพิ่มราคา ทำให้คนซื้อซื้อของแพงขึ้นผลักภาระภาษีให้ประชาชน และอาจจะมีประชาชนบางส่วนด่ารัฐบาลที่ทำให้เดือดร้อน จึงไม่มีผลชัดเจนว่าจะมีผลในเชิงบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย หากมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่มีความประสงค์จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ ตามหลัก เกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

โดยกำหนดให้การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการต่างประเทศดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร สำหรับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร และให้นำเงินส่งกรมสรรพากรผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดย กำหนดให้ไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี ส่วนความผิดสำหรับการไม่จดทะเบียน หรือการไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งไม่นำส่งเงิน หรือส่งเงินไม่ครบถ้วน จะต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และมีโทษปรับอาญา เช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไป

ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการในต่างประเทศมีประสิทธิภาพ เห็นควรให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณากำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ ต้องมาตั้งสถานประกอบการในไทยหรือมีตัวแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทยด้วย โดยในเรื่องนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เสนอว่า ควรมีการศึกษาถึงข้อจำกัดและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้เคยผูกพันไว้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลักการดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนที่จะกระทบกับข้อกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เห็นควรต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ