บลจ.กรุงไทยชวนลงทุนรับวัยเกษียณ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บลจ.กรุงไทยชวนลงทุนรับวัยเกษียณ

Date Time: 15 มิ.ย. 2561 07:01 น.

Summary

  • “ชวินดา หาญรัตนกูล” บลจ.กรุงไทย ชวนคนวัยทำงาน วางแผนการเงิน ห่วงคนไทยออมน้อย-ลงทุนต่ำ ไม่มีเงินเพียงพอเลี้ยงชีพวัยเกษียณ แนะให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวมสร้างเงินออมงอกเงยเพิ่มพูน...

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ให้เงินทำงานผ่านกองทุน

“ชวินดา หาญรัตนกูล” บลจ.กรุงไทย ชวนคนวัยทำงาน วางแผนการเงิน ห่วงคนไทยออมน้อย-ลงทุนต่ำ ไม่มีเงินเพียงพอเลี้ยงชีพวัยเกษียณ แนะให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวมสร้างเงินออมงอกเงยเพิ่มพูน

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการออมเพื่อวัยเกษียณมีความ สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Ageing Society ทั้งนี้ ประเทศไทยมีประชากร 65.9 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุมากถึง 10.5 ล้านคน มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศมาตั้งแต่ปี 48 และคาดว่าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น เป็น 20% ในปี 64 ซึ่งจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และอีก 10 ปีถัดไป คือปี 74 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 28%

“การวางแผนการเงินด้วยการออมและการลงทุน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อเตรียมพร้อมการเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพพึ่งพาตนเอง โดยไม่เป็นภาระให้กับลูกหลานหรือสังคม ดำเนินชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงกลับพบว่า คนไทยมีความตื่นตัวในการออมเงิน และวางแผนการเงินน้อยมาก อัตราการออมและการลงทุนของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก และถ้ายังคงอยู่ในอัตราปัจจุบัน เมื่อเข้าวัยเกษียณคนไทย ส่วนใหญ่จะมีเงินออมที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ”

จากข้อมูล ณ สิ้นปี 60 คนไทยมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ 94.84 ล้านบัญชี ขณะที่ใช้เงินออมลงทุนผ่านกองทุนรวมเพียง 5.78 ล้านบัญชี และออมเงินผ่านการทำประกันชีวิต 26.05 ล้านกรมธรรม์ และหากเจาะเข้าไปในอุตสาหกรรมกองทุนรวม พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้ การบริหารจัดการ (AUM) ของ บลจ.ทั้งระบบ แบ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินออมที่นายจ้างสมทบร่วมกับลูกจ้าง มีมูลค่ารวม 1.10 ล้านล้านบาท กองทุนรวม 4.63 ล้านล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 901,817ล้านบาท และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 442,280 ล้านบาท

“หากโฟกัสการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งทั้งหมด 5.78 ล้านบัญชีนี้ จะพบว่า จำนวนนี้นับรวมบัญชีที่มีชื่อซ้ำกันด้วย แต่หากนับบัญชีจากเลขบัตรประจำตัวประชาชนโดยตัดชื่อบัญชีที่ซ้ำกันออก พบว่า ผู้ที่ออมเงินในระบบกองทุนรวมมีเพียง 3.03 ล้านบัญชี หรือ 3.03 ล้านคนเท่านั้น ทั้งที่ไทยมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานสูงถึง 30 ล้านคน หมายความว่ามีคนวัยทำงานเพียง 10% เท่านั้น ที่นำเงินออมมาลงทุนหาผลตอบแทนให้งอกเงยผ่านกองทุนรวม”

มีคนวัยทำงานอีกจำนวนมากที่ทิ้งเงินออมไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ที่ขณะนี้ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมาก ควรจะบริหารหรือวางแผนการเงินเพื่อให้งอกเงยเพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนผ่านกองทุนรวมถือเป็นทางเลือกหรือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ที่อาจยังมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนไม่มากพอ เพราะเป็นการให้ผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพบริหารจัดการเงินให้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนเองก็ควรต้องศึกษาโอกาส ความเสี่ยง และผลตอบแทนของเงินตัวเองด้วย

นางชวินดา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบรรดา บลจ.ต่างๆ ได้มีการออกกองทุนที่นำเงินที่ระดมทุนได้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายสามารถ ตอบสนองความต้องการลงทุนที่หลากหลายและกระจายความเสี่ยงให้กับเจ้าของเงินออมมากมาย ทั้งลงทุนในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ หุ้นกู้ พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ โครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า รถไฟฟ้า ฯลฯ ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้น แม้จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่จากสถิติในอดีตหากเป็นการลงทุนระยะยาว จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้มากกว่า ดังนั้น สำหรับผู้ที่อายุยังน้อยจึงอาจจัดสรรเงินมาลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นได้มากกว่าผู้ที่อายุมากที่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

“เชื่อว่าการลงทุนในกองทุนรวมยังเติบโตได้อีกมาก เพราะคนทำงานยังเข้ามาลงทุนน้อยมาก โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนเพื่อการเกษียณ (RMF) ที่นอกจากได้ลงทุนหาผลตอบแทนแล้วยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย โดยต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นให้คนวัยทำงานตั้งแต่เริ่มมีรายได้ให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการลงทุนเพื่อให้เงินทำงานให้งอกเงย”

ท้ายนี้ นางชวินดา ยังกล่าวถึงภาวะการลงทุน ในตลาดหุ้นว่า ตลาดยังมีความผันผวนอยู่ โดยเฉพาะจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นขาขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ปรับขึ้นสูงมากและสูงกว่าผลตอบแทนของไทยแล้ว ซึ่งถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ และอาจทำให้เงินทุนยังคงไหลออกจากตลาดไทยและภูมิภาคไปหาผลตอบแทนที่มากกว่า อย่างไร ก็ตาม ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ทิศทางที่ดีขึ้น และสภาพคล่องภายในประเทศยังมีสูงมาก ทำให้ตลาดหุ้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และภายใต้ความผันผวนยังมีจังหวะหรือโอกาสดีในการลงทุน แต่แนะนำให้กระจายการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงและหาผลตอบแทนที่หลากหลายด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ