ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีข่าวว่ามีนักกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์การพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ แบบที่ 17 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า มี การพิมพ์ด้านหลังธนบัตรในส่วนของ “โทษฐานการปลอมแปลงธนบัตร” ผิดไป จากกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากธนบัตรยังระบุอัตราโทษการปลอมแปลงธนบัตรในอัตราโทษเก่าที่ “สี่หมื่นบาท” ขณะที่ตามกฎหมายปัจจุบันระบุโทษปรับที่ “ตั้งแต่สองแสนถึงสี่แสนบาท” นั้น ธปท.ชี้แจงว่า ธปท.ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ แบบ 17 ใน 5 ชนิดราคา ใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป โดยธนบัตรชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ได้เริ่มออกใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2561 ซึ่งกระบวนการออกแบบและ จัดพิมพ์ธนบัตรใหม่ต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้า โดยธนบัตรแบบ 17 ได้เริ่ม กระบวนการตั้งแต่ปลายปี 2559 ดังนั้น ในด้านหลังธนบัตรในการพิมพ์ลอตดังกล่าว จึงปรากฏข้อความเตือนระบุโทษการปลอมหรือแปลงธนบัตรตามกฎหมาย ด้วยข้อความเดิมเช่นเดียวกับธนบัตรส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2560 ซึ่งได้ปรับปรุงโทษสูงสุดของการปลอมหรือแปลงธนบัตรจาก โทษสูงสุดสี่หมื่นบาทเป็นสี่แสนบาท ซึ่ง ธปท.ขอเรียนว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงอัตราโทษแล้ว ผู้ที่ปลอมหรือแปลงธนบัตรจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และ ธปท.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อปรับแบบธนบัตรให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ออกมาใหม่ โดยธนบัตรแบบที่ 17 ทั้ง 5 ชนิดราคา ตั้งแต่ชนิดราคา 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท ที่จะออกใช้ตั้งแต่วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ วันที่ 28 ก.ค.2561 เป็นต้นไป จะใช้ข้อความว่า “การปลอมหรือแปลงธนบัตรเป็นความผิด ต้อง ระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา” แทน เพื่อให้สามารถรองรับการแก้ไข กฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย.