กระแสข่าวควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ร้อนแรงขึ้นมาทันที หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ออกตาม ความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทยมีผลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 หรือ 5 ปีนับจากนี้
ธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกิจการกัน หรือโอนกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนให้แก่กัน จะได้รับการยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ รวมถึงค่าธรรมเนียม
โดยกระทรวงการคลังให้เหตุผลต่อการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวว่า การควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นธนาคารระดับภูมิภาค แข่งขันในอาเซียนได้
และทันทีที่มติ ครม.ออกมา นักวิเคราะห์ก็ได้นำข่าวเก่ามาเล่าใหม่ เล่นตามกระแส จับธนาคาร ทหารไทย ควบรวมกิจการกับธนาคารกรุงไทย คิดแบบง่ายๆเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 แห่ง มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่
จนผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 แห่ง ต้องดาหน้าออกมาปฏิเสธ ยืนยันไม่มีแนวคิดควบรวมกิจการ ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ออกมากำชับว่า มาตรการสนับสนุน การควบรวมกิจการในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งตัดสินใจเอง
ส่วนบรรดาผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ ทั้งนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ต่างออกมาสนับสนุนมาตรการควบรวมกิจการว่าเป็นสิ่งที่ดี สร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ยังไม่มีแผนที่จะการควบรวมกิจการกัน
“ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอมองความเป็นไปได้ของการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์แบบไทยๆ ในช่วง 5 ปีของมาตรการสนับสนุนในครั้งนี้ ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่....
มองย้อนหลังนับจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เป็นต้นมา การควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารพาณิชย์ฐานะการเงินมีปัญหา หรือเรียกง่ายๆว่าใกล้เจ๊ง เมื่อถึงทางตันหรือหมดทางออก จึงยอมควบรวมกิจการ แลกกับความอยู่รอด
ไล่มาตั้งแต่ธนาคารกรุงไทย เป็นแกนนำควบรวมกับธนาคารมหานคร พร้อมกับรับโอนเงินฝากและสินเชื่อดี ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือบีบีซี ปัจจุบันกรุงไทยมีสินทรัพย์รวม 2.80 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงเทพ ที่มีสินทรัพย์ 3.07 ล้านล้านบาท
แต่เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพจากผลประกอบการ พบว่าปี 2560 ธนาคารกรุงไทยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 22,440 ล้านบาท และไตรมาส 1 ปี 2561 กำไรสุทธิ 6,786 ล้านบาท ต่ำกว่าธนาคารที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ธนาคารกรุงเทพ ที่มีสินทรัพย์รวม 3.07 ล้านล้านบาท ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 33,814 ล้านบาท และไตรมาสแรกปี 2561 กำไรสุทธิ 9,004 ล้านบาท
ส่วนอันดับ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีสินทรัพย์รวม 2.75 ล้านล้านบาท ปี 2560 กำไรสุทธิ 43,151 ล้านบาท ไตรมาสแรกปี 2561 กำไรสุทธิ 11,364 ล้านบาท ตามด้วยอันดับ 4 ธนาคารกสิกรไทย มีสินทรัพย์รวม 2.51 ล้านล้านบาท ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 34,338 ล้านบาท ไตรมาสแรกปี 2561 กำไรสุทธิ 10,765 ล้านบาท
กรณีต่อมา ธนาคารนครหลวงไทยเป็นแกนนำควบรวมกิจการกับธนาคาร ศรีนคร และขายหุ้นให้กับธนาคารธนชาต จนที่สุดธนาคารธนชาตก็ได้ควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทยแบบเบ็ดเสร็จ ผู้บริหารต่างมีความหวังว่าจะก้าวขึ้นสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันธนาคารธนชาตยังคงมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 952,509 ล้านบาท ไม่สามารถขยับขึ้นชั้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางต่อไป
ด้านธนาคารแหลมทอง ควบรวมกิจการกับธนาคารรัตนสิน ก่อนขายหุ้นให้กับธนาคารยูโอบีของสิงคโปร์ ขณะที่ธนาคารเอเชียได้พันธมิตรรายใหม่ คือธนาคารเอบีเอ็นแอมโร จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ แต่ต่อมาเอบีเอ็นแอมโรถอนตัว ขายหุ้นธนาคารเอเชียให้กับธนาคารยูโอบี นำไปสู่การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารยูโอบีกับธนาคารเอเชีย ปัจจุบันธนาคารยูโอบี มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 527,317 ล้านบาท สถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก
ส่วนธนาคารทหารไทย เพิ่มทุนจดทะเบียนต่อเนื่อง สถานะการเงินยังไม่ดีขึ้น ภาครัฐจึงจับควบรวมกิจการกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) สถานะการเงินยังไม่ฟื้นอยู่ดี จึงใส่เงินเพิ่มทุนจดทะเบียนก้อนสุดท้ายอีก 37,600 ล้านบาท พร้อมดึงไอเอ็นจี แบงก์ จากเนเธอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 25.2% ของทุนจดทะเบียน พร้อมใส่เงินเข้ามาอีก 20,980 ล้านบาท และเปลี่ยนทีมบริหารใหม่ นำทัพโดยนายบุญทักษ์ หวังเจริญ จนผลการดำเนินงานเริ่มดีขึ้น ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวม 831,871 ล้านบาท ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 8,686 ล้านบาท ไตรมาสแรกปี 2561 กำไรสุทธิ 2,279 ล้านบาท
ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ดึงบริษัทจีอี แคปปิตอล จำกัด ผู้นำตลาดเช่าซื้อรถยนต์มือสอง สินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิต เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา พร้อมนำธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล จากนั้นจีอี แคปปิตอล ก็ขายหุ้นให้กับกลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล หรือ MUFG จากญี่ปุ่น ซึ่งนำธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด (BTMU) สาขากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นธนาคารในเครือ MUFG มาควบรวม ปัจจุบันธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีสินทรัพย์รวม 2.05 ล้านล้านบาท ผลการดำเนินงานปี 2560 มีกำไรสุทธิ 23,209 ล้านบาท และไตรมาสแรกปี 2561 มีกำไรสุทธิ 6,214 ล้านบาท
การควบรวมกิจการของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จึงมีความแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ โดยเกิดจากการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทในเครือของจีอี แคปปิตอล และนำลูกค้ารายใหญ่จาก BTMU สาขากรุงเทพฯ มาควบรวม ทำให้เกิดการเกื้อหนุนกันได้ดี
ตามทฤษฎี ภายหลังการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ ขนาดสินทรัพย์ใหญ่ขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง จากการปรับลดพนักงานที่ทำงานซ้ำซ้อน ระบบงานที่เป็นงานหลังบ้านทั้งหมด (Back Office) เหลือเพียง 1 เดียว ปิดสาขาที่ใกล้กัน ทำให้ธนาคารมีฐานะการเงินเข้มแข็ง ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
แต่ในความเป็นจริง หลังการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ของไทยส่วนใหญ่ตรงกันข้ามกับหลักทฤษฎี หรือเรียกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการนำธนาคารพาณิชย์ที่ใกล้เจ๊งหรือถึงทางตัน หมดทางออก มาควบรวมกิจการ
ซึ่งต้นเหตุของธนาคารใกล้เจ๊ง เกิดจากวัฒนธรรมองค์กร มีปัญหาสะสมยาวนาน 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นองค์กรมีปัญหา พนักงานไม่ใส่ใจ ขาดประสิทธิภาพ มีการทุจริต และการบริหารจัดการความเสี่ยงอ่อนแอ
เมื่อนำธนาคารพาณิชย์มาควบรวมกิจการ ปัญหาจึงเกิดขึ้นทันที ตั้งแต่พนักงานทะเลาะกัน มีตำแหน่งงานซ้ำซ้อน ปลดพนักงานไม่ได้ ต้นทุนพนักงานตามทฤษฎีต้องลด ก็ไม่ได้ลดลง แถมหลังควบรวมกิจการ ลูกค้าเงินฝาก สินเชื่อดีย้ายหนี เพราะพนักงานมัวแต่ทะเลาะกัน ไม่ดูแลลูกค้า รายได้หดหาย กว่าจะประคองตัว แก้ไขปัญหาภายในที่เกิดขึ้นได้ ต้องใช้เวลานาน
การนำธนาคารที่มีปัญหาวัฒนธรรมองค์กร อยู่ในสถานะใกล้เจ๊ง มาควบรวมกับธนาคารใกล้เจ๊งเหมือนกัน องค์กรใหม่ก็หนีปัญหาเดิมๆไม่หลุด และยังวนเวียนอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ
ขณะที่การควบรวมที่ประสบความสำเร็จ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นแกนนำต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง จึงควบคุมธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาใกล้เจ๊งได้
อย่างไรก็ตาม สถานะของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันถือว่ามีฐานะการเงินดี เห็นได้จากความสามารถในการทำกำไร ไตรมาส 1 ปี 2561 กำไรสุทธิรวมกัน 54,414 ล้านบาท บวกกับเงินกองทุนแข็งแกร่ง ส่งผลให้การควบรวมกิจการพาณิชย์เกิดขึ้นได้ยาก
นอกจากนั้น ยังมีอุปสรรคใหญ่ที่สลัดไม่ออก เป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจควบรวมกิจการ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารพาณิชย์เป็นของกลุ่มตระกูลหรือของรัฐบาล โดยความคิดของตระกูลต้องการยึดติดอำนาจในการบริหารเบ็ดเสร็จ หากผลดำเนินงานมีกำไร ผู้ถือหุ้นพอใจต่อเงินปันผล บวกกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯที่เพิ่มขึ้นนับว่าเพียงพอแล้ว
ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของรัฐบาล ก็ต้องการส่งตัวแทนเข้ามานั่งเป็นประธานกรรมการ กรรมการ ตลอดจนกรรมการผู้จัดการใหญ่ หวังกุมอำนาจการ บริหารเช่นเดียวกัน
ขณะที่ นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยเห็นด้วยกับมาตรการสนับสนุนการควบรวมกิจการ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้กับธนาคารพาณิชย์ไทยมีทางเลือกในการเดินหน้าธุรกิจมากขึ้นในอนาคต
สำหรับสถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบัน ล้วนแต่มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR Ratio) ที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ สำหรับปี 2561 อยู่ที่ 10.375% โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2561 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ อยู่ในช่วงประมาณ 15.2-21.26% (ข้อมูลธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง) ซึ่งย้ำว่าฐานะเงินกองทุนมีความเข้มแข็งเพียงพอ และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ
“หากมีการควบรวมกิจการในรอบนี้ ก็เป็นไปเพื่อการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์ ธุรกิจที่รองรับการเติบโตในอนาคต ไม่ใช่เป็นเพราะปัญหาทางการเงิน ดังเช่นเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540”
ทั้งนี้ การควบรวมกิจการมีข้อดีหลายประการ คือ 1.ช่วยเพิ่มฐานเงินกองทุน 2.เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจหลายด้านที่ดีขึ้น อาทิ การปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ที่อาจเป็นกิจการที่กำลังขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยจะทำให้เพดานการปล่อยกู้ต่อราย (Single Lending Limit) ที่ผูกอยู่กับขนาดเงินกองทุนนั้น ถูกยกขึ้นไปตามฐานเงินกองทุนที่ใหญ่ขึ้น
3.เพิ่มความเก่งของธุรกิจเฉพาะด้าน โดยเฉพาะหากเป็นการควบรวมกับสถาบันการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ที่มีความชำนาญในบางสาขาทางการเงินเป็นพิเศษ และมีฐานลูกค้าดั่งเดิมที่ใหญ่ และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรในภาพรวม ด้วยการลดความซ้ำซ้อนของฟังก์ชันงานที่เหมือนกันลง
กระนั้นก็ดี ในทางปฏิบัติ การควบรวมกิจการมักนำมาซึ่งประเด็นท้าทายหลายประการ โดยหลักๆจะอยู่ที่การบริหารจัดการพนักงาน สาขา และระบบ ตลอดจนวิธีและวัฒนธรรมการทำงานที่มีความต่างกัน ขณะที่ในบางกรณี การควบรวมกิจการ อาจไม่สามารถเป็นเครื่องยืนยันว่าจะสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เพราะปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
นายปรีดีกล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตจะมีการควบรวมจากธนาคารพาณิชย์ไทยหรือไม่นั้น คงจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งมีความแตกต่าง ทั้งในมิติของขนาด รูปแบบธุรกิจ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้หนึ่งในจุดตัดสินใจสำคัญจะกลับไปที่ประเด็นว่าการควบรวมนั้น จะส่งเสริมกลยุทธ์ทางธุรกิจและความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวมากน้อยเพียงใด.
********
มาตรการสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ ให้สิทธิทั้งลดภาษี-ค่าธรรมเนียม นับเป็นสิ่งดีที่ทุกคนในวงการธนาคารให้การยอมรับ โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกิจการ หวังเพิ่มการแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่ดีและราคาถูก เหมือนการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน-จ่ายบิล ผ่านช่องทางดิจิทัล
แม้ตอนนี้ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์สนใจควบรวมกิจการ แต่ด้วยระยะเวลาของมาตรการ ที่ยาวนานถึง 5 ปี หรือครบอายุปี 2565 ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงปลายปี 2562 สภาพคล่องเงินฝากที่ท่วมระบบมายาวนาน 6-7 ปี จะสิ้นสุดลง เมื่อสหรัฐฯ และยุโรป ยกเลิกมาตรการคิวอี หรือมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณการเงิน พร้อมดึงเงินกลับประเทศ แถมสหรัฐฯยังใช้มาตรการภาษีดึงผู้ประกอบการเอกชนกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ
เมื่อสภาพคล่องในระบบหดหาย ธนาคารพาณิชย์ต้องแข่งระดมเงินฝาก ต้นทุนการเงินสูงขึ้น บวกกับผลกระทบจากกระแสดิจิทัล ทำรายได้ค่าธรรมเนียมหดหาย เมื่อใกล้ถึงทางตัน ธนาคารพาณิชย์อาจหันหน้าควบรวมกิจการ เพื่อความอยู่รอด!!!
ทีมเศรษฐกิจ