หลังจากที่ ค่ายเจมาร์ท ทำ ICO เงินดิจิทัล เจฟินคอยน์ จำนวน 100 ล้านเหรียญ ขายเหรียญละ 6.60 บาท ได้เงินบาทไป 660 ล้านบาท ก็มีข่าวว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกราว 20 บริษัท เตรียมออกไอซีโอเงินดิจิทัลระดมเงินบาทกันมั่ง เพราะ ไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุม จึงหวังเร่งระดมเงินกันใหญ่ เพราะเป็นเงินที่ได้มาฟรีๆ ด้วยการ “ขายรหัสคอมพิวเตอร์” เรียกว่า “โทเคน” หรือ “คอยน์” ไม่ต้องมีธุรกิจหรือหลักทรัพย์รองรับ ไม่ต้องจ่ายเงินคืนเมื่อมีปัญหา ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงเอาเอง
เป็น คลื่นใหม่เทคโนโลยีที่น่ากลัวนะครับ ถ้ารัฐบาลปล่อยให้ขายกันเสรีอย่างนี้
เช่น การขาย เจฟินคอยน์ 100 ล้านเหรียญ เพื่อ ระดมเงิน 660 ล้านบาทไปปล่อยกู้ ของ ค่ายเจมาร์ท ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน โดยให้ข้อมูลว่า จะนำเงินไปปล่อยกู้ในรูปแบบ Peer to Peer Lending หรือ การปล่อยเงินกู้ระหว่างบุคคลโดยตรงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
โดยไม่มีธนาคารเป็นตัวกลาง เจฟินคอยน์ระดมเงินไปแล้ว 660 ล้านบาท แต่ยังไม่มีใบอนุญาตการปล่อยกู้แบบ P2P รัฐเองก็ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ ถือเป็นความเสี่ยงของนักลงทุนเอง
เมื่อวานนี้ คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ก็ออกมาเตือนว่า มีผู้สนใจระดมทุนด้วยไอซีโอชักชวนให้ประชาชนสนใจการลงทุนในไอซีโอหรือคริปโตเคอเรนซีมากขึ้น หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจอย่างแท้จริง มีความเสี่ยงและเสียหายได้ง่าย อาจมีผู้ฉวยโอกาสสร้างกระแส โดย นำโครงการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเป็นจุดขาย หรือ โครงการที่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนรองรับ หรือ นำเทคโนโลยีมาบังหน้า เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนลงทุน
คุณรพี ระบุด้วยว่า ข้อมูลในเอกสารประกอบการขาย หรือ White Paper เปรียบเสมือน “สัญญาปากเปล่า” เพราะ โครงการที่ระดมทุนอาจยังเป็นเพียงแนวคิด และ การดำเนินการตามโครงการที่ระบุไว้อาจไม่สำเร็จ หรือ สำเร็จแต่ไม่เหมือนกับที่เปิดเผยไว้แต่แรก ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆทั้งสิ้น
ก็เหมือนอย่างที่ผมเขียนไปวันก่อน White Paper หรือ หนังสือชี้ชวนการขายเงินดิจิทัล ที่เขียนโครงการลงทุนด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่างสวยหรู หรือโครงการที่กำลังพัฒนา ชื่อก็บอกอยู่แล้ว White Paper (กระดาษสีขาว) เพราะ สิ่งที่เขียนไว้บนไวท์เปเปอร์ อาจจะไม่สำเร็จ อาจจะล้มเหลว อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เหมือน กระดาษสีขาว ที่ไม่มีอะไรเลย
สัปดาห์ที่แล้ว นายอากุสติน คาร์สเตนส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ที่มีสมาชิกเป็น ธนาคารกลาง จากทุกประเทศทั่วโลก ก็ออกมาเตือนว่า เงินดิจิทัลอย่าง “บิทคอยน์” อาจเป็น เงินที่ไม่มีความยั่งยืน ไม่สามารถจัดให้เป็นสกุลเงินได้ และว่า บิทคอยน์ เป็น ส่วนผสม ระหว่าง ฟองสบู่ การหลอกลวง และ ความหายนะของสิ่งแวดล้อม เพราะต้องใช้พลังงานในกระบวนการ “ขุดบิทคอยน์” เป็นจำนวนมาก
นางคริสทีม ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็กล่าวใน World Economic Forum 2018 ว่า เดือนธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา การขุดบิทคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้าไปถึง 43 กิกะวัตต์ต่อวัน ถ้าปี 2018 ยังเป็นอย่างนี้ การขุดบิทคอยน์จะใช้ไฟฟ้าเท่ากับประเทศอาร์เจนตินาทั้งประเทศ เลยทีเดียว
ทางเดียวที่จะหยุดความหายนะจากเงินดิจิทัล โลกต้องควบคุมเงินดิจิทัลให้อยู่
คุณพรชัย ฐีระเวช รองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับ แบงก์ชาติ และ ก.ล.ต. เพื่อออกแนวทาง กำกับควบคุมผ่านกฎหมาย เพราะในสหรัฐฯเองก็มีการออกคำเตือนว่า เริ่มมีการออกเงินดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ขายในราคาต่ำ จากนั้นก็ฉ้อโกง ไปตามคืนจากใครไม่ได้
เงินดิจิทัล ดูดเงินจริง จากเศรษฐกิจจริง ดังนั้น เงินดิจิทัลพังเมื่อไหร่ เศรษฐกิจจริงก็พังเมื่อนั้น ผมเตือน รัฐบาล กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ ก.ล.ต. ไว้ตรงนี้.
ภาพจาก https://www.jfincoin.io/
“ลม เปลี่ยนทิศ”