ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว เอกชนเชื่อมั่นสูงสุดแต่ห่วงเงินบาทฉุดรั้ง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว เอกชนเชื่อมั่นสูงสุดแต่ห่วงเงินบาทฉุดรั้ง

Date Time: 25 ม.ค. 2561 08:50 น.

Summary

  • ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค.ที่ผ่านมา แตะระดับ 89.1 สูงสุดในรอบ 35 เดือน บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ยังผวาบาทแข็งค่าและค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวฉุดรั้ง

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค.ที่ผ่านมา แตะระดับ 89.1 สูงสุดในรอบ 35 เดือน บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว แต่ยังผวาบาทแข็งค่าและค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวฉุดรั้ง แนะให้เร่งดูแลค่าบาทและหามาตรการรับมือค่าแรงขึ้น กลุ่มยานยนต์ปลื้ม ธ.ค.ยอดขายรถพุ่งสุดรอบ 4 ปีฮึดตั้งเป้าปี 61 ผลิตรถ 2 ล้านคัน

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ประจำเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87 ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และยังเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 35 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2558 มาจากปัจจัยหลักที่เดือน ธ.ค. ตลาดผู้บริโภคในประเทศ มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอาหาร สินค้ากลุ่มของขวัญ ของฝากในเทศกาลปีใหม่และคริสต์มาส ซึ่งสะท้อนจากคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ภาค
เอกชนก็ยังคงวิตกกับการแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกสินค้ากลุ่มเดียวกับประเทศไทย รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเอสเอ็มอี

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 102.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ รวมถึงการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น

“สมาชิก ส.อ.ท. ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาล ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน, การกำหนดมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อช่วยลดต้นทุน, เร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อสร้างกำลังซื้อเศรษฐกิจฐานราก เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการฟื้นความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (อียู) หลังจากอียูผ่อนปรนมาตร การทางการค้ากับประเทศไทย เพื่อกระตุ้นยอดส่งออกของไทยไปยังอียู”

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 104,302 คัน เพิ่มขึ้นจาก ธ.ค. 2559 ประมาณ 20% ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากมียอดจองรถยนต์ ในงานมหกรรมยานยนต์ที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. มียอดขายเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวประชาชนมีกำลังซื้อรถยนต์มากขึ้น ทำให้กลุ่มยานยนต์มั่นใจว่า ในปีนี้ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว และจากนี้ไปยอดขายรถยนต์จะทยอยปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

“กลุ่มยานยนต์ จึงคาดว่าในปีนี้ทุกค่ายรถยนต์จะมีกำลังการผลิตรถยนต์รวม 2 ล้านคัน สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 1,988,823 คัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 1,100,000 คัน เท่ากับ 55% ของยอดการผลิตทั้งหมด ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 1,126,432 คัน เป็นจำนวน 26,432 คันหรือลดลง 2.36% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจำนวน 900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 862,391 คัน เป็นจำนวน 37,609 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.36%”

สำหรับการผลิตรถยนต์ในปี 2560 มีจำนวนรวม 1,988,823 คัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวน 1,950,000 คัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 2% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 2% โดยเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกได้ 1,126,432 คัน เท่ากับ 56.64% ของยอดการผลิตทั้งหมดลดลงจากปี 2559 คิดเป็น 3.52%”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ