ผู้ว่าการ ธปท.ชี้เงินบาทแข็งค่า เหตุเงินดอลลาร์อ่อนค่าและไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ยันไม่แทรกแซงเพื่อประโยชน์การค้า ส่วนเรื่องแบงก์ปิดสาขาลดพนักงานชี้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวรับเทคโนโลยี ค่าบริการจะถูกลง เตรียมออกเกณฑ์ตัวแทนทำธุรกิจ Banking Agent เพิ่มช่องทางบริการลูกค้า
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวถึง กรณีที่ไทยถูกสหรัฐฯจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นประเทศเกินดุลการค้าสหรัฐฯสูง และเป็นประเทศที่ถูกจับตา Watch list ว่า เป็นเรื่องเก่า ยืนยันว่าไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน เพื่อให้ได้ประโยชน์การส่งออก หรือหวังผลทางการค้า โดย ธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่เห็นว่ามีเงินไหลเข้ารุนแรง เพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนจนเกินไป โดยส่วนใหญ่เกิดจากความไม่แน่นอนของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้น เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงจากปัญหาภายในของสหรัฐฯเอง บวกกับประเทศไทยมีปัจจัยเฉพาะตัวที่มีดุลบัญชี เดินสะพัดเกินดุลสูงด้วย โดยปี 60 เกินดุลบัญชีเดิน สะพัด 49,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 10% ของจีดีพี
“ธปท.ดูแลค่าเงินบาทตามหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง ดูแลเพื่อไม่ให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงรุนแรงจนกระทบภาคธุรกิจที่แท้จริง และให้ค่าเงินสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจเท่านั้น โดยค่าเงินที่แข็งค่าไม่ได้เกิดเฉพาะไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่เงินบาทแข็งค่าจากการส่งออกที่ขยายตัวดี มีเงินไหลเข้ามามากกว่าเงินที่ไหลออกไปต่างประเทศ ส่งผลให้มีดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุน และบางช่วงพบว่ามีเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไร หรือเข้ามาในช่วงที่สถานการณ์ต่างประเทศมีความไม่แน่นอน และเชื่อว่า ไทยยังเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินในระยะต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น”
ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น กระทบกับอัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงที่มีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด เนื่องจากการปรับค่าแรงควรคำนึงถึงพื้นฐานของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ขณะที่หลายพื้นที่ได้จ่ายค่าแรงเกินอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว
นายวิรไทยังกล่าวถึงกรณีที่สถาบันการเงินมีแผนปิดสาขา และลดจำนวนพนักงานจำนวนมากว่า เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินต้องปรับตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ซึ่ง ธปท.ได้คุยเรื่องผลกระทบของการปิดสาขา ว่าต้องดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันการเงินมีทางออก เช่น การเพิ่มทักษะ ฝึกอบรมพนักงาน เพื่อให้รับหน้าที่ใหม่ได้ ซึ่งพนักงานก็ต้องปรับตัว แต่ ธปท.เชื่อว่าการปรับลดสาขาของธนาคาร เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นนั้น จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของประชาชนผู้รับบริการถูกลงด้วย ขณะที่ ธปท. มองว่า ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศ ที่หลายอุตสาหกรรมต้องเตรียมพร้อม เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
นายวิรไทยังกล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ เพื่อประกาศให้ สถาบันการเงินสามารถแต่งตั้งตัวแทนทำธุรกิจของสถาบันการเงิน (Banking Agent) ได้ คาดว่าจะออกประกาศได้ไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งจะเป็นช่องทางการให้บริการลูกค้า ช่วยลดผลกระทบการปิดสาขาธนาคารได้ ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการการเงินได้ ทั้งการรับฝากเงินและชำระหนี้ และเป็นการลดต้นทุนการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ข้อดีคือเมื่อต้นทุนลดลง ค่าบริการที่จะคิดกับประชาชนก็มีแนวโน้มถูกลงด้วย ช่วยลดผลกระทบการปิดสาขาธนาคารได้ ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการ และลดต้นทุนการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ได้ด้วย ข้อดีคือเมื่อต้นทุนลดลง ค่าบริการที่จะคิดกับประชาชนก็มีแนวโน้มถูกลงด้วย.”