กกร.ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ สุมหัวเสนอมาตรการรัฐดูแลค่าบาทแข็งโป๊ก 12% สูงสุดภูมิภาค ยอมรับกังวลหนักหวั่นกระทบผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ราคาเกษตร ชี้หนึ่งในมาตรการหารือเก็บภาษีกำไรเงินลงทุนระยะสั้น สกัดเงินร้อน มองส่งออกปีนี้โตแค่ 3.5–6% จากปี 60 โต 10%
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ มีตัวแทนจาก 3 สถาบัน จัดทำมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเสนอภาครัฐให้เข้ามาบริหารจัดการภายในสัปดาห์หน้า เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันสินค้าส่งออกไทย โดย 2 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ากว่า 12% หรือ 3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้า เช่น มาเลเซีย ค่าเงินแข็งค่า 9% เวียดนามอ่อนค่า 1% ฟิลิปปินส์อ่อนค่า 7%
“สัปดาห์หน้า คณะทำงานฯจะเสนอมาตรการที่ได้หารือร่วมกันกับภาครัฐ เพื่อให้เข้ามาดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท เพราะตอนนี้ถ้าเทียบดูกับคู่แข่งของไทย เงินบาทแข็งค่าสูงสุด จะกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของเรา เช่น สินค้าประเภทเดียวกัน ค่าเงินบาทเราแข็งค่ากว่า สินค้าเราก็จะแพงขึ้น ทำให้คู่ค้ามีแนวโน้มไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งเราแทน ผู้ได้รับผลกระทบจะมีทั้งผู้ส่งออกเอสเอ็มอี และเกษตรกร เพราะจะได้ราคาลดลง ซึ่งมาตรการที่ กกร.เตรียมเสนอ จะไม่ผิดกติกาสากลอย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ กกร.ได้ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ ซึ่งคาดว่าภาคส่งออกจะขยายตัว 3.5-6.0% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัว 10% เนื่องจากผู้ส่งออกเป็นห่วงค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ส่วนการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ก็คาดว่าจะขยายตัว 3.8-4.5% ขณะที่ปี 2560 ขยายตัว 3.9%, ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้ คาดว่าขยายตัว 1.1-1.6% และปีที่ผ่านมา ขยายตัว 0.7% เนื่องจากในปีนี้มีแรงขับเคลื่อนหลักๆมาจากการขยายตัวของการลงทุนทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว
“กกร.ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯต่อคู่ค้าต่างๆในจังหวะที่สหรัฐฯจะเลือกตั้งกลางเทอมในเดือน พ.ย.นี้, ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งในคาบสมุทรเกาหลีและภูมิภาคตะวันออกกลาง และต้องการให้ภาครัฐ ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการประชารัฐต่างๆและต้องการให้ภาครัฐกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง 55 จังหวัด โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดเมืองรองนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่เศรษฐกิจฐานราก”
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการดูแลค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่มีการพูดถึง เช่น นโยบายของนายโทบิน แทคซ์ ซึ่งเป็นการคิดภาษีจากเงินกำไรที่ได้จากการนำเงินมาลงทุนระยะสั้นในไทย จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมีข้อเสีย คือ หากไทยขาดสภาพคล่องและต้องการเงินลงทุนของต่างชาติ นักลงทุนอาจจะไม่เข้ามาลงทุน เพราะมีกำแพงภาษีอยู่ ส่วนข้อดีเป็นการบอกกติกาชัดเจนว่าคิดภาษีจากเงินลงทุน ดังนั้น คนที่จะเข้ามาเก็งกำไรอาจจะชะลอไป ลดแรงกดดันค่าเงินบาท จึงต้องประเมินให้รอบด้าน.