ธปท.ยึดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
“ธปท.” ยืนยันจะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อในปีหน้า แม้เฟดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่แบงก์พาณิชย์เจอศึกหนักต้องปรับทัพรับเทคโนโลยีทางการเงินที่ไหลบ่าเข้ามา ชี้มองให้เป็นโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงนโยบายการเงินที่จะดำเนินการต่อในปี 2561 ว่า ธปท.จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ที่จะเอื้อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ที่คาดว่าจะเติบโต 3.9% แต่การคงใช้นโยบายดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนนี้เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวที่เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ และขณะนี้ยังไม่เห็นแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือธนาคารกลางใหญ่ของโลก ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เพราะนโยบายการเงิน ต้องพิจารณาปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
“แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของเราคงที่มาต่อเนื่องก็ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของไทย ยังอยู่ในระดับปกติไม่ได้รับผลกระทบจนน่าเป็นห่วง ส่วนกรณีที่ไม่แน่ใจว่า เมื่อต่างชาติขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เงินทุนต่างชาติที่เคยอยู่ในไทยจะไหลออกไป ธปท.ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาครัฐและเอกชน ในการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเราลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศไปมากและมีทุนสำรองอยู่ในระดับสูง”
นายวิรไท กล่าวว่า ธปท.ต้องไม่สร้างจุดเปราะบางให้เกิดขึ้น และขณะนี้ระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ หากมีการปรับขึ้นอย่ารวดเร็ว รวมทั้งติดตามอัตราเร่งของการปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารของประเทศหลัก เพื่อเป็นแนวทางดำเนินนโยบายการเงินต่อไป และยังได้มองภาพของธนาคารพาณิชย์ในปีหน้า ว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆและการให้บริการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาจทำให้การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไม่เหมาะสม ซึ่ง ธปท.ต้องการให้คนไทยได้รับบริการทางการเงินที่เหมาะสมและต้นทุนต่ำ
ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับตัวโดยกรณีในส่วนหนึ่งคือเป็นความท้าทายในการดำเนินการและทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในช่วงต่อไป และอีกทางหนึ่งก็เป็นโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการ หรือระบบหลังบ้านของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนการให้บริการต่ำลงด้วย
“เรื่องของการพิมพ์ธนบัตรของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ยอดพิมพ์ธนบัตรเริ่มที่จะปรับตัว โดยยอดการขอเบิกจ่ายธนบัตรจากธนาคารพาณิชย์คงที่ จากที่ต้องเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการเร่งใช้การโอนชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งพร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ด และ ธปท.ได้เตรียมการออกธนบัตร แบบใหม่ในปีหน้า โดย ธปท.ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เริ่มกระบวนการจัดพิมพ์แล้ว คาดว่าจะได้ใช้ในเร็วๆนี้”
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงินและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อาจทำให้เกิดการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ และกระทบพนักงาน แต่ในการบริการประชาชนให้ครบทุกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ยังต้องมีสาขาหรือการให้บริการแบบเผชิญหน้ากันระหว่างพนักงานกับลูกค้า แต่จะปรับสาขาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร.