หนี้ครัวเรือนผ่านจุดหนักสุดมาแล้ว

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หนี้ครัวเรือนผ่านจุดหนักสุดมาแล้ว

Date Time: 3 ต.ค. 2560 07:27 น.

Summary

  • นายวิชญายุทธ บุญชิต ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนางแอนนา กอร์บาโช หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

Latest

ความรู้ทางการเงิน สำคัญแค่ไหน? สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ในระบบการเงินโลกยุคนี้

นายวิชญายุทธ บุญชิต ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนางแอนนา กอร์บาโช หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประจำภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก ว่า สศช.ได้ให้ข้อมูลกับไอเอ็มเอฟถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง 5 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ช่วงปี 60-64 โดยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.8-4.3%ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3.6%

สำหรับข้อจำกัดการเติบโตเศรษฐกิจที่มาจากหนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้ผ่านจุดที่มีความรุนแรงมากที่สุดมาแล้ว และสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้กำลังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 60 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการขยายตัวที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องไปถึงปี 61 ซึ่งจะเป็นปีแห่งการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปตามที่ สศช.คาดการณ์ไว้

“ได้ให้ข้อมูลกับไอเอ็มเอฟว่า ไตรมาส 2 ของปี 60 จีดีพีขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย เมื่อรวมกับแนวโน้มการขยายตัวที่เร่งขึ้นในครึ่งปีหลังทำให้ สศช.ปรับเพิ่มค่ากลางประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 60 จากเดิม 3.5% เป็น 3.7% ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นั้น ตัวชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญๆยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทย”

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนไอเอ็มเอฟได้สอบถามถึงสาเหตุการลดลงของการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 2 ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า ในช่วงเดียวกันของปี 59 มีการขยายโครงการลงทุนในระดับท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัด การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของกระทรวงสำคัญๆ จึงเป็นฐานที่สูงเมื่อเทียบกับปีนี้ ซึ่งการลดลงของการลงทุนภาครัฐเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ในขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยครึ่งปีหลังการลงทุนภาครัฐจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ