อวสานธนบัตร! ธุรกิจแข่งเดือด ลุยตลาดดิจิทัล จับเทรนด์ 'สังคมไร้เงินสด'

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อวสานธนบัตร! ธุรกิจแข่งเดือด ลุยตลาดดิจิทัล จับเทรนด์ 'สังคมไร้เงินสด'

Date Time: 24 ส.ค. 2560 08:00 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ทุกคนคงได้รู้จัก แจ๊ค หม่า อาลีบาบา อาลีเพย์ วีแชต การจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด คนจีนไม่พกเงินสด คนจีนใช้สมาร์ทโฟนจ่ายเงิน และล่าสุดธนาคารของไทยจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด

Latest


ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินคำว่า สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ผ่านหู ผ่านตากันมาบ้าง และทุกคนคงได้รู้จัก แจ๊ค หม่า อาลีบาบา อาลีเพย์ วีแชต การจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด คนจีนไม่พกเงินสด คนจีนใช้สมาร์ทโฟนจ่ายเงิน และล่าสุด ธนาคารของไทยจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด หรือเราสามารถไปถอนเงินได้ที่ตู้เอทีเอ็มได้ โดยไม่ต้องมีบัตรเอทีเอ็ม...

แน่นอนทุกคนคงมีคำถามเกิดขึ้นในหัว ใช้อย่างไร ต้องทำอย่างไร รูปแบบเป็นแบบไหน ....'ไทยรัฐออนไลน์' พาไปไขข้อสงสัย และพาไปเฝ้ามองสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในแวดวงการเงินของไทย

รู้จัก e-Payment

e-Payment คือ การชำระเงินระหว่างผู้จ่าย ผู้โอนเงินไปยังช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต การชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น เราจะรู้จักกันดีในรูปแบบ พร้อมเพย์ โมบายเพย์เมนต์ รวมถึงโมบายแบงกิ้ง เป็นต้น

อะไรคือ E-wallet กระเป๋าเงินออนไลน์

กระเป๋าเงินออนไลน์ หรือที่เรียกกันว่า E-wallet, Digital Wallet, Mobile Wallet เป็นการใช้จ่าย ชำระสินค้า บริการต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โดยเราสามารถผูกกับบัญชีบัตรเครดิต บัญชีเงินฝาก รวมถึงการโอนเงิน และการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากธนาคาร

Rabbit LINE Pay (ภาพจากแฟนเพจ)
Rabbit LINE Pay (ภาพจากแฟนเพจ)

สำหรับ E-wallet ในประเทศไทย ที่หลายคนเคยผ่านตามาบ้างก็ เช่น ทรูมันนี่ (TrueMoney) เอไอเอส เอ็มเพย์ (AIS mPAY) แรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LINE Pay) ถ้าเป็นของต่างประเทศที่เราน่าจะคุ้นเคยคือ เพย์พาล (Paypal) อาลีเพย์ (Alipay) เป็นต้น

แบงก์ ปรับโฉมโมบายแบงกิ้ง รับยุคสังคมไร้เงินสด 

เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์เทคนิคเบื้องต้นแล้ว หลายคนอาจจะมีคำถามทำไมเราต้องให้ความสนใจเรื่องการใช้จ่ายแบบไม่ต้องใช้เงินสด ธนบัตร เหรียญ เช่นนี้ เหตุผลที่สำคัญ คือต้นทุนการจัดการเงินสด นึกง่ายๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิมพ์ธนบัตร หรือปั๊มเหรียญ เพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก นี่แหละคือ ต้นทุนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแบกรับ

นอกจากนี้ เทคโนโลยีได้พัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัว หลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว เริ่มใช้จ่ายเงินสดน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ที่หันมาใช้อาลีเพย์ หรือ วีแชต ขณะที่หลายประเทศหันมาใช้จ่ายบัตรเดบิต เครดิต และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เช่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวมถึงฟากอเมริกา และยุโรป 

ส่วน ธนาคารพาณิชย์ในไทย ก็เช่นกัน ได้หันมาพัฒนาระบบ e-Payment มากขึ้น เช่น การติดตั้งเครื่องอ่านบัตรเดบิตในร้านค้าหลายๆ แห่ง รวมไปถึงการคืนเงินทันที หากเครื่องรูดบัตรมีปัญหา เหล่านี้ถือก็เป็นการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ e-Payment นั้นเอง 

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2559 คนไทยทำธุรกรรมทั้งการโอนเงิน และชำระเงินค่าบริการต่างๆ ผ่านโมบายแบงกิ้งสูงขึ้นเพิ่มเป็น 20.8 ล้านบัญชี จาก 13.92 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2558 ซึ่งในไม่ช้าธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟน จะกลายเป็นธุรกรรมหลักของธนาคาร นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้จับเงินสดน้อยลง และหันไปใช้บริการ จ่าย โอน ซื้อ ผ่าน e-Payment มากขึ้น

อย่าไรก็ตาม ธนาคารหลายแห่งได้หันมาพัฒนาระบบโมบายแบงกิ้งให้ใช้งานง่าย และตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น เริ่มจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่พัฒนาแอปพลิเคชัน เอสซีบี อีซี่ย์ (SCB EASY) ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากเราไม่มีบัตรเอทีเอ็ม ก็สามารถไปถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มได้ เพียงมี PIN 6 หลัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ยังมีการให้ความมั่นใจผู้ใช้งานผ่านโมบายแบงกิ้งด้วยการคุ้มครองเงินสูงสุดถึง 1 แสนบาท ครอบคลุม​ 4 กรณี​ ได้แก่​ กรณี​โทรศัพท์​หาย​ ถูก​ขโมย ถูก​ขโมยเอกสารสำคัญส่วนตัว บัตร ระบบมือถือถูกเจาะแฮก และกรณีถูกไวรัส หรือโปรแกรมขโมยข้อมูล เป็นต้น

ข้ามฟากมาที่ ธนาคารกสิกรไทย หลังจากแอปพลิเคชันเค พลัส (K PLUS) ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เช่น การดูพอร์ตการลงทุนทั้ง กองทุนรวม และหลักทรัพย์ที่ลงทุนผ่านบริษัทลูกของธนาคารได้

ทั้งนี้ กสิกรไทย ได้พัฒนาระบบการจ่ายเงินได้ง่ายกว่านั้น คือ การพัฒนาระบบจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งจะประเดิมร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสินค้าแฟชั่น และการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น กลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง โดยจะประเดิมที่แหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามสแควร์ ตลาดนัดจตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ เป็นต้น

แน่นอนว่า หากเราต้องการใช้ระบบคิวอาร์โค้ด สิ่งแรกที่ต้องมี คือ บัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิรกรไทย ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเค พลัส ก็สามารถใช้งานได้ ที่สำคัญร้านค้าต้องมีแอปพลิเคชันเค K PLUS SHOP มาถึงจุดนี้ หลายคนมีคำถาม ถ้าเป็นลูกค้าธนาคารอื่น สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายได้หรือไม่ คำตอบ ตอนนี้ยังไม่ได้ แต่ในอนาคต น่าจะได้

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี และธนาคารกรุงไทย เริ่มปรับโฉมโมบายแบงกิ้ง เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินในรูปแบบคิวอาร์โค้ด โอนจ่ายเงิน ที่ทำได้ง่ายขึ้น การขอรายการเดินบัญชีย้อนหลัง (statement) รวมไปถึง การขอหนังสือค้ำประกันธุรกิจผ่านบล็อกเชน ที่ธนาคารกสิกรไทย เปิดใช้เป็นรายแรกนั้นเอง

ทรูมันนี่ (truemoney) ชื่อนี้ไม่ธรรมดา

ทรูมันนี่ หรือ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด เครือซีพีกรุ๊ป ที่มีการร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ในเครือบริษัทอาลีบาบาในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ E-wallet นอกจากจะให้บริการซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าออนไลน์ แล้ว จุดเด่นของทรูมันนี่ คือ วีการ์ด หรือ บัตรเครดิตเสมือน (Virtual Credit Card) ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ใช้บริการในไทยเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ทรูมันนี่ ไม่ได้ให้บริการแค่ไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังให้บริการใน อินโดนีเซีย, เวียดนาม, เมียนมา และกัมพูชา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การให้บริการทรูมันนี่ในประเทศกัมพูชา พบว่า มีเงินหมุนเวียนในระบบทรูมันนี่ กว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบได้มากกว่า 10% ของจีดีพีประเทศ ทำให้เครือข่ายของทรูมันนี่ในกัมพูชามีขนาดใหญ่กว่าธนาคาร

ทั้งนี้ โปรเจกต์ถัดไป คือ ทรูมันนี่ ที่จะเริ่มให้บริการเร็วๆ นี้ คือ การปล่อยเงินกู้ผ่าน E-wallet แน่นอนคุณอ่านไม่ผิด นั้นหมายความว่า เราไม่ต้องเป็นลูกค้าของธนาคารอีกต่อไป การให้บริการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-bank และธุรกิจปล่อยเงินกู้นอกระบบ อาจสะเทือนได้ 

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่นับรวมผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาสู่ศึกสงครามสังคมไร้เงินสดนี้ ซึ่งบริษัทหลายแห่งเริ่มเห็นเทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต แต่สิ่งที่ผู้เล่นรายใหม่จะต้องฝ่าด่านอรหันต์ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ไปให้ได้เสียก่อน...ไม่นานนี้ เราอาจจะได้เห็นผู้เล่นหน้าใหม่ เข้ามาเพิ่มเติมแน่นอน

รู้จัก 'อาลีเพย์' ให้มากขึ้น แล้วจะเข้าใจ 'สังคมไร้เงินสด' แท้จริง

ใครจะรู้วันหนึ่ง เราจะเห็นภาพ อาม่าในประเทศจีนไปซื้อกับข้าวที่ตลาด อาม่าไม่ควักเงิน แต่อาม่าควักสมาร์ทโฟน และสแกนคิวอาร์โค้ด เพียงเท่านี้อาม่าก็ได้กับข้าวไปทำที่บ้านแล้ว.. มาถึงตรงนี้ คนจีนไม่ใช้เงินสดแล้วหรือ..คำตอบคือ ใช่ ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่าน อาลีเพย์ และ วีแชต แล้ว อาลีเพย์ เหมือนพร้อมเพย์หรือไม่ อาลีเพย์มาถึงไทยแล้วหรือ... เรามาไขคำตอบกัน

วรมน ดำรงศิลป์สกุล นักเขียนหนังสือหาวห่าวมาร์เก็ตติ้ง เปิดเผยว่า ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาลีเพย์ เป็นแอปพลิเคชัน ที่ให้บริการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้าน อี-คอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ อาลีเพย์ ถือเป็นคนกลางที่พักเงิน (escrow payment) ในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และส่งต่อเงิน ซึ่งจุดนี้เองเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากไม่ค่อยจะมีบริษัทให้บริการเช่นนี้ ซึ่งของต่างประเทศก็มีเพียง เพย์พาล เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ อาลีเพย์ จริงๆ คือการเป็นนายหน้าดูแลเงิน ซึ่งตรงนี้เองต้องมีเงินหมุนเวียนในระบบค่อนข้างมาก ทางอาลีเพย์ จึงมีการประกัน และการปล่อยกู้ และใช้เงินต่อเงิน ด้วยการซื้อกองทุน ซึ่งอาลีเพย์ มีลูกค้า 2 ฝั่งคือ ฝั่งคนซื้อแบบเราทั่วไป แน่นอนการซื้อของนั้นจะต้องได้ของสินค้าก่อนถึงจะมีการจ่ายเงิน ทางฝั่งผู้ประกอบการ หรือคนขาย จะต้องหมุนเงิน และบริหารจัดการเงินทุนอย่างไร อาลีเพย์ก็จะเป็นนายหน้าจัดการให้

สัญลักษณ์รับจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์ และวีแชต ในร้านสะดวกซื้อ
สัญลักษณ์รับจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์ และวีแชต ในร้านสะดวกซื้อ

วรมน กล่าวอีกว่า สิ่งที่คนไทยกำลังสงสัยคือ พร้อมเพย์ กับ อาลีเพย์ เหมือนกันหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่ใช่ พร้อมเพย์ของไทยเป็นเพียงการจ่ายเงินแบบไม่ใช้เอทีเอ็ม และทำผ่านสมาร์ทโฟน แต่พื้นฐานของ อาลีเพย์ สร้างมาเพื่อเป็นคนกลางซื้อขายของ เป็นคนกลางที่พักเงิน คล้ายกับผู้ค้ำประกัน หากการซื้อขายนั้นเสร็จสิ้น ผู้ขายจะได้เงิน ผู้ซื้อจะได้ของ ส่วนการใช้โอนเงินให้คนทั่วไป ก็สามารถทำได้เหมือนกับพร้อมเพย์

สำหรับในเมืองไทยที่เห็นว่ามีการรับจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์ และวีแชตนั้น ก็ต้องดูก่อนว่าป้ายที่รับจ่ายเป็นอย่างไร เนื่องจากบางส่วนอาจจะเป็นของบริษัท จีมู่ ทราเวล เว็บไซต์ที่ขายดีลร้านอาหาร สปา และบริการต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยวจีน โดยจีมู่ จะเข้ามาดีลร้านอาหารและบริการเกือบทุกร้านในประเทศไทยที่คนจีนมักไปท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จีมู่ จะทำแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการีวิว และทำเมนูอาหารให้เลือกซึ่งมาพร้อมกับส่วนลด ซึ่งหากมีออเดอร์หรือสั่งเมนูนี้ ร้านค้าก็ต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้กับจีมู่ โดยใช้ระบบการจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์ และบริการนี้ไม่ใช่อาลีเพย์ แต่เป็นการขายดีลของจีมู่

อย่างไรก็ตาม หากป้ายการรับจ่ายเงินของอาลีเพย์ และวีแชต ในร้านสะดวกซื้อ เช่น ตามเซเว่นอีเลฟเว่น ธนาคารกสิรไทย คิงเพาเวอร์​ นั้นคือบริการของอาลีเพย์จริงๆ

"สิ่งที่แตกต่างคือ ประเทศไทย ยังไม่มีใครเป็นคนกลางพักเงิน หรือ escrow payment เหมือนกับอาลีเพย์ และเพย์พาล"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ