ใช้จ่ายบัตรเครดิตกระเตื้อง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ใช้จ่ายบัตรเครดิตกระเตื้อง

Date Time: 15 ส.ค. 2560 07:15 น.

Summary

  • ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ณ สิ้นเดือน มิ.ย.60 หรือสิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยสถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย มีจำนวนบัตรเครดิต 19.85 ล้านบัตร

Latest

นาฬิกาเรือนละล้าน รถสปอร์ตก็หรู เพราะคำว่า “รวย” ของเราไม่เท่ากัน ความอู้ฟู่ ที่คนรวยจริง ไม่ทำกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ณ สิ้นเดือน มิ.ย.60 หรือสิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยสถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อย มีจำนวนบัตรเครดิต 19.85 ล้านบัตร เพิ่มขึ้น 100,000 บัตรจากเดือน พ.ค.60 มียอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต 336,385.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,529.55 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบัตรเครดิตลดลง โดยมีหนี้เอ็นพีแอล 8,339.49 ล้านบาท หรือ 3.43% ของสินเชื่อรวม ลดลง 1,520.04 ล้านบาท จากไตรมาส 1 ที่มีหนี้เอ็นพีแอล 9,859.47 ล้านบาท หรือ 4.09% ของสินเชื่อรวม ส่วนหนึ่งเกิดจากธนาคารพาณิชย์เร่งติดตามหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิตเร็วขึ้น เพื่อลดการเกิดหนี้เสีย

สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.60 เล็กน้อย และเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก โดยมีปริมาณการใช้บัตรเครดิต 146,025.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,733.62 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายในประเทศ 122,017.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,435.17 ล้านบาท การใช้จ่ายในต่างประเทศ 9,503.82 ล้านบาท ลดลง 1,255.8 ล้านบาท เป็นการลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ยอดเบิกเงินสด 14,504.33 ล้านบาท ลดลง 445.75 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้รายงานยอดการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลเดือน มิ.ย.60 ซึ่งภาพรวมยังเห็นการเพิ่มขึ้นของทั้งจำนวนบัญชี และจำนวนสินเชื่อตามความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลลดลงจากเดือน พ.ค.60 แม้ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงความสามารถชำระหนี้ของสินเชื่อกลุ่มนี้ โดยเดือน มิ.ย.60 สินเชื่อบุคคลมีทั้งสิ้น 12.45 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 90,940 บัญชี และมีจำนวนสินเชื่อส่วนบุคคล 335,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 777 ล้านบาท ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคล อยู่ที่ 8,949 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรก ที่มีหนี้เอ็นพีแอล 9,844 ล้านบาท หรือลดลง 895 ล้านบาท

ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) กลับมามียอดหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสวนทางกับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล โดยสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ มีจำนวน 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.60 ที่ 353 ล้านบาท และมีหนี้เอ็นพีแอล 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท จากไตรมาสแรกที่มีเอ็นพีแอล 37 ล้านบาท โดยธปท.กำลังติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ