ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดประชุมกนง. 16 ส.ค.นี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ย 1.50 % หนุนฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย และเฟดอาจปรับลดงบดุลช่วงปลายปี มั่นใจ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดีขึ้น หลังการท่องเที่ยวกระเตื้อง..
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.60 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในช่วงปลายปี โดยเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไปอีกระยะ โดยมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงรักษาโมเมนตัมไว้ได้ แม้ยังมีบางภาคส่วนที่ยังคงเปราะบาง โดยโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยหนุนแรงส่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น จากการเร่งเบิกจ่ายงบกลางปีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่การลงทุนของเอกชนและการใช้จ่ายครัวเรือนยังคงเปราะบาง
นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นแบบไม่คำนึงถึงความเสี่ยง (Search for yield) อันเป็นความเสี่ยงต่อความเปราะบางของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยที่ กนง. คงท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง และมองว่าความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ยังคงมีอยู่โดยความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องจับตา ได้แก่ ผลกระทบของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงปรับตัว ผลบวกจากภาคการส่งออกที่คงปรับลดลง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นแรงกดดันรายได้ภาคเกษตรกรในระยะข้างหน้า อันอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
รวมทั้ง ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ อาจจะลุกลามและมีความเสี่ยงที่จะมีการใช้กำลังทางทหาร ดังนั้น การคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องน่าจะเหมาะสมในการช่วยลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งผลจากการปรับลดขนาดงบดุลของเฟดต่อเศรษฐกิจไทย น่าจะมีผลกระทบที่จำกัด
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายคงอยู่ในระดับที่ทางการดูแลได้ เนื่องจากเสถียรภาพต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงเกือบ 10% ของ GDP และมีระดับเงินทุนสำรองกว่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่วนสภาพคล่องในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์มีสูงเกือบ 2 ล้านล้านบาท อันเพียงพอต่อการรองรับความต้องการระดมทุนในประเทศ ในขณะเดียวกัน การปรับลดขนาดงบดุลของเฟดอาจจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้บางส่วน.