อัดสินเชื่อ 5 หมื่นล้านอุ้มข้าว นบข.เข็นมาตรการช่วยชาวนาสกัดราคาตก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อัดสินเชื่อ 5 หมื่นล้านอุ้มข้าว นบข.เข็นมาตรการช่วยชาวนาสกัดราคาตก

Date Time: 5 ส.ค. 2560 05:45 น.

Summary

  • นบข.เห็นชอบ 3 มาตรการช่วยเหลือชาวนา ให้ ธ.ก.ส.เตรียมสินเชื่อ 4–5 หมื่นล้านบาท ระดมสารพัดวิธีดูดซับข้าวออกจากตลาดไม่ให้ราคาตก ย้ำในปีนี้เกษตรกรได้ราคาดีกว่าปีก่อน และมากกว่าตันละ 10,000 บาท

Latest

จ่ายหนี้บัตรเครดิตแบบไหน? ถึงจะดี เช็กลิสต์สัญญาณอันตราย เมื่อใช้บัตรเครดิต ไม่ระวัง เป็นหนี้หัวโต

นบข.เห็นชอบ 3 มาตรการช่วยเหลือชาวนา ให้ ธ.ก.ส.เตรียมสินเชื่อ 4–5 หมื่นล้านบาท ระดมสารพัดวิธีดูดซับข้าวออกจากตลาดไม่ให้ราคาตก ย้ำในปีนี้เกษตรกรได้ราคาดีกว่าปีก่อน และมากกว่าตันละ 10,000 บาท เมื่อรวมเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวจะมากกว่าตันละ 14,000 บาท ขณะที่จำนำยุ้งฉางยังไม่เคาะราคา ขอรอผลสรุปปริมาณข้าวที่เสียหายจากน้ำท่วมก่อน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/2561 ด้านการตลาด 3 โครงการ คาดใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อดำเนินการรวมกัน 40,000-50,000 ล้านบาท โดย 2 โครงการแรกจะช่วยดึงข้าวออกจากระบบได้ประมาณ 10.5 ล้านตันข้าวเปลือก

ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีเป้าหมายรวบรวมข้าว 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นการซื้อข้าวเข้ามาเพื่อชะลอการขาย โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะใช้วงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนนำไปซื้อข้าวเปลือกมาเก็บไว้ชะลอการขาย มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ต.ค. 2560-30 ก.ย. 2561 โดยคิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1 ให้สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนรับภาระดอกเบี้ย 1% ต่อปี ขณะที่รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรในอัตราไม่เกิน 3% ต่อปี ในระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนในส่วนนี้จะใช้งบประมาณ 406.25 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 375 ล้านบาท และค่าประกันภัย ค่าบริหารจัดการโครงการ 31.25 ล้านบาท

2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตรา 3% ต่อปีตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อก 60-180 วัน นับแต่วันที่รับซื้อซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต๊อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารจากเดิมเก็บเฉพาะข้าวเปลือกเพื่อดูดซับผลผลิตซึ่งจะเก็บสต๊อกคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกได้ 8 ล้านตัน โดยในส่วนนี้ มีวงเงินดำเนินการ 940 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าชดเชยดอกเบี้ย 937.5 ล้านบาท เป็นของข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว 577.50 ล้านบาท และข้าวเจ้า 360 ล้านบาท มีระยะเวลารับซื้อ 1 พ.ย. 2560-30 ก.ย. 2561 และระยะเวลาการเก็บสต๊อก 1 พ.ย. 2560-31 มี.ค. 2561

ส่วนโครงการที่ 3 ได้แก่ โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี หรือ โครงการรับจำนำที่ยุ้งฉาง ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการไว้ก่อนและยังไม่ได้กำหนดราคารับจำนำ เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการรวบรวม ความเสียหายของข้าวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยเบื้องต้นมีพื้นที่เสียหาย 4.7 ล้านไร่ ประมาณการค่าเสียหายที่ 1.5-2 ล้านตัน แต่ก็ให้วงเงิน ธ.ก.ส. ไว้เต็มวงเงินสินเชื่อประมาณ 40,000 ล้านบาทไว้ก่อน

“โครงการจำนำยุ้งฉาง โดย ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อกับชาวนาที่เข้าโครงการในวงเงินไม่เกิน 90% ของราคาข้าวแต่ละชนิดตามราคาตลาด แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปราคาของข้าวแต่ละชนิดได้ เพราะยังต้องรอการประเมินผลกระทบจากน้ำท่วม ที่จะทำให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว จะมีราคาสูงจนชาวนาอาจได้รับเงินเกินกว่า 10,000 บาทต่อตันแน่นอน คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ น่าจะได้ข้อสรุป นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือค่าเก็บยุ้งฉางอีกตันละ 1,500 บาท และค่าเก็บเกี่ยวอีกไม่เกินครัวเรือนละ 12,000 บาท โดยจะเสนอให้ นบข.เห็นชอบภายหลังอีกครั้ง ซึ่งชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเบื้องต้นจะได้รับเงินรวมทั้งหมดถึงตันละ 14,000 บาท”

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ข้าวฤดูกาลใหม่เริ่มออกมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. และจะมีมากช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2560 คาดว่า จะมีผลผลิตออกมาทั้งหมด 26-27 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งถ้าโครงการออกมาแล้วช่วยดูดซับข้าวออกจากตลาดได้ จะช่วยให้ราคาข้าวสูงขึ้น แต่ก็ยังต้องดูผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย สำหรับโครงการรับจำนำยุ้งฉางในปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าขณะนี้มีเกษตรกรมาขอไถ่ถอนข้าวที่รับจำนำไว้ตันละ 9,500 บาทจำนวนมากเนื่องจากราคาตลาดสูงกว่าราคารับจำนำ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีมาก สำหรับการบริหารจัดการข้าวของประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ