"การค้าการขายก็คิดให้มีเงินผ่อน ดาวน์ไม่เดือดร้อนผ่อนตามสบาย ข้าวของเครื่องใช้ก็ซื้อได้ด้วยดาวน์ ผ่อนกันยาวๆ ดอกเบี้ยบานตะไท ดอกทวีคูณก็หมุนเดือนชนเดือน เขาคอยมาเตือนว่าผ่อนช้าเกินไป"
ผ่านไปกว่า 33 ปี บทเพลง ราชาเงินผ่อน ของวงคาราบาว ยังคงใช้ได้ในปัจจุบันนี้ หลังข้อมูลวิจัยจากหลายหน่วยงานยืนยันตรงกันว่า คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงติดอันดับ 3 ของเอเชีย-แปซิฟิก และหลายๆ คนก็ก่อหนี้กันตั้งแต่อายุยังน้อยๆ โดยเฉพาะหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล ซื้อรถยนต์ และจักรยานยนต์ ด้วยประเด็นเหล่านี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ออกมาตรการมาคุมเข้มการให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อป้องกันการผูกหนี้ของมนุษย์เงินเดือนในอนาคต
ทั้งนี้ หลังจาก 'ไทยรัฐออนไลน์' ได้นำเสนอ วิธีผ่อนบ้านให้เงินต้นหมดไวๆ ดอกเบี้ยไม่บาน ไปแล้ว ครั้งนี้ มงคล ลุสัมฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ Wealth Design Consulting ได้แนะนำ 6 วิธีจัดการหนี้แบบอยู่หมัด เรียกได้ว่า ทำตามวิธีนี้ คุณปลดแอกจากภาระอันหนักอึ้งได้แน่นอน
1. หยุดการก่อหนี้
เมื่อเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็น หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ สิ่งที่เราต้องทำคือ หยุดการก่อหนี้ ซึ่งถ้าหากวันนี้เรายังเป็นหนี้ แต่เราไม่หยุดการก่อหนี้ เรียกง่ายๆ ว่า ทำให้ตายอย่างไร เราก็ใช้หนี้ไม่หมด....สิ่งที่เราต้องจำไว้ คือ ไม่มีก็ไม่ต้องใช้ มีเท่าไรก็ต้องใช้เท่านั้นให้พอ ไม่เช่นนั้นจะเป็นดินพอกหางหมู และล้มละลายได้ในอนาคต
2. ทำบัญชีสำรวจหนี้สิน
หาสมุดสัก 1 เล่ม ทำบัญชีสำรวจหนี้สิน เราต้องจดไว้เลยว่า เรามีหนี้สินกับสถาบันการเงินไหนบ้าง มีหนี้กี่บาท ผ่อนเดือนละเท่าไร กำหนดวันจ่ายเงินคือวันที่เท่าไร อัตราดอกเบี้ยเท่าไร เช่น
นางสาวพอเพียง อยากหมดหนี้ มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท
มีหนี้บัตรเครดิตกับธนาคาร A จำนวน 60,000 บาท ผ่อนเดือนละ 6,000 บาท กำหนดวันจ่ายเงินคือวันที่ 2 ของทุกเดือน อัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี
มีหนี้เช่าซื้อรถกับธนาคาร B จำนวน 700,000 บาท ยอดเงินต้นคงเหลือ 550,000 บาท ผ่อนเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายเงินวันที่ 5 ของทุกเดือน อัตราดอกเบี้ย 2% ตลอดอายุสัญญาเช่าซื้อ
สำหรับเหตุผลที่ต้องให้ทำบัญชีสำรวจหนี้สิน เนื่องจาก บางคนเป็นหนี้ หลายธนาคารจนเกิดความสับสน
3. เริ่มจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง
เมื่อทำบัญชีหนี้สินเสร็จสิ้น แล้วจะมองเห็นรายได้ และรายจ่ายแต่ละเดือน ที่สำคัญจะมองเห็นหนี้ที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงๆ ซึ่งหนี้แบบนี้คือ หนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้ส่วนบุคคล และหนี้นอกระบบ ซึ่งตรงนี้เราควรจัดการเสียก่อน โดยเฉพาะหนี้กับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ทั้งหลายที่อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ หากมีหนี้หลายก้อนมีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน แนะนำให้จัดการกับหนี้ก้อนเล็กก่อน จะได้มีกำลังใจในการปลดภาระหนี้
4. ปิดหนี้ และบริหารจัดการหนี้
หากเราหยุดก่อหนี้แลัว เริ่มจัดการหนี้ก้อนเล็กๆ หรือหนี้ที่ดอกเบี้ยแพง เราก็จะมีกำลังใจ และมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เข้มมากขึ้น
5. ลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม
ควรมองหาวิธีการหารายได้เสริม และลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน
6. มีวินัยจ่ายคืนหนี้อย่างเคร่งครัด
หนี้ที่สร้างมาแล้ว มีโอกาสที่จะหมดได้ ถ้าหากเรามีวินัยในการจ่ายคืน วันหนึ่งเราจะปลดหนี้ได้แน่ๆ
อย่างไรก็ตาม 'ไทยรัฐออนไลน์' ขอเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังเป็นหนี้ ปลดแอกจากภาระนี้ไวๆ ไม่มีหนี้ ไม่มีทุกข์แน่นอน