แบงก์ชาติ ยันเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด คาดปีนี้ขยายตัว 3.5% หวั่นความเสี่ยงกำลังซื้อในประเทศไม่กระจายตัว หนี้เน่าเอสเอ็มอีสูงขึ้น ห่วงผลกระทบจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เชื่อคุมบัตรเครดิต-สินเชื่อ ไม่กระทบบริโภค...
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5% และปี 61 เติบโตได้ 3.7% แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า, ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน
ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศนั้น กำลังซื้อในประเทศยังไม่กระจายตัวไปอย่างทั่วถึง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าที่คาด, ความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs ที่ยังคงเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงขึ้น, ผลกระทบจากนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว รวมทั้งพฤติกรรมการมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดต่ำกว่าที่ควร
สำหรับมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ ธปท.เตรียมปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคประชาชน เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้กับลูกค้ารายใหม่ ไม่ใช่ลูกค้ารายเดิมที่ได้รับสินเชื่ออยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งภายในปีนี้ รวมถึงทยอยปรับลดขนาดงบดุลตามขั้นตอนและวิธีการที่ประกาศไว้ รวมทั้งในปี 61 ที่ยังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าขณะนี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป และยังไม่ถึงเวลาที่จะลดการผ่อนคลายลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ยังไม่ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ +/- 2.5% หรือในกรอบ 1-4% แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มเป็นขาขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อุปทานที่เคยเป็นตัวกดดันเงินเฟ้อจะหายไป รวมทั้งปัจจัยจากฐานเงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงครึ่งปีแรก
พร้อมยืนยันว่า แม้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ไม่ได้เห็นสัญญาณของเงินฝืดแต่อย่างใด เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยยังมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ SMEs ที่จะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ยังไม่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากระดับหนี้ของ SMEs มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็งทั้งในส่วนของเงินกองทุน และเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ยังสามารถรองรับการเป็น NPL ของ SMEs ได้
ทั้งนี้ภาคธุรกิจ SMEs ในปัจจุบันยังมีปัญหาในเรื่องความสามารถทางการแข่งขัน โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัจจัยด้านการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันสูง ทำให้ภาคธุรกิจ SMEs จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ หากไม่มีการปรับตัว ธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้.