เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการกำกับดูแลการจำนำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ว่า สำนักงาน ก.ล.ต. คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องการกำกับดูแลภายในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ โดยความยากในเรื่องนี้คือการสร้างรูปแบบของการรายงานข้อมูลการจำนำหุ้นนอกตลาด ที่จะต้องดูว่าจะต้องรายงานอย่างไรบ้าง
“ความชัดเจนในเรื่องการรายงานข้อมูลการจำนำหุ้นนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ โดยความยากคือการจำนำหุ้นนอกตลาดที่เป็นธุรกรรมส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหาร จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง”
ทั้งนี้ในการทำธุรกรรมในตลาดหุ้นนั้นมี 3 รูปแบบ คือ 1 การนำหุ้นวางไว้ในบัญชีมาร์จิ้น 2 การจำนำหุ้นกับโบรกเกอร์ และ 3 การจำนำหุ้นนอกตลาด ซึ่งในการรายงานนั้นต้องมีข้อมูลทุกธุรกรรมรวมกัน
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ยังคงเข้มงวดในการดูแลการซื้อขายหุ้น รวมถึงอยู่ระหว่างการทบทวนกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย เช่น การใช้ Uptick หรือธุรกรรมอื่นๆ ที่ได้บังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อประเมินความเหมาะสมหรือไม่ และต้องปรับปรุงตรงจุดไหนหรือเปล่า
ทั้งนี้ยอมรับว่า การใช้มาตรการ Uptick อาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งต้องมาดูว่ายังเหมาะสมที่จะบังคับใช้มาตรการนี้อยู่หรือไม่ โดยใช้บุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมในการประเมิน
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นการที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนลงทุนในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX นั้น สามารถทำได้ และสามารถถือสถานะได้ทั้งในฝั่ง Long และฝั่ง Short ซึ่งเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งที่สามารถทำได้
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีประเด็นในเรื่องรับรู้ข้อมูลมาก่อนว่าบริษัทอาจมีปัญหาผลประกอบการ หรือรับรู้ว่าราคาหุ้นอาจปรับตัวลดลง หากมีเรื่องนี้เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งต้องพิจารณาในส่วนนี้